xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เล็งเสนอกรมโยธาฯ ปลดล็อกจำกัดความสูงอาคารใน กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.เล็งเสนอกรมโยธาฯ ปลดล็อกจำกัดความสูงอาคารใน กทม. ระบุประชากรมาก ที่ดินในเมืองแพง ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยอมรับถนนใน กทม.มีน้อยแค่ 4% เหตุก่อสร้างมีข้อจำกัด ค่าเวนคืนแพง แนะรัฐบาลแก้ปัญหาระบบขนส่ง

นายพินิต เลิศอุดมธนา รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพฯ มีปัญหาคล้ายกับเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก คือ มีการหลั่งไหลเข้ามาทำงาน หรืออยู่อาศัยจำนวนมาก ดังนั้น การก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูงๆ จึงมีความจำเป็น ซึ่ง กทม.มีแนวคิดที่จะขอยกเลิกข้อจำกัดความสูงของอาคาร แต่ยังคงระยะถอยร่นทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ไว้ตามเดิม เนื่องจากในปัจจุบัน ที่ดินมีราคาแพง อีกทั้งประชากรมีจำนวนมากการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดิน จึงต้องให้การพัฒนาที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเสนอไปยังกรมโยธาธิการ และผังเมืองเป็นผู้พิจารณาแก้ไข

ในส่วนของภาคเอกชน ผู้ประกอบการก็จะต้องใช้อาศัยเทคโนโลยีในการก่อสร้าง ใช้แรงงานคนน้อย ลดต้นทุนได้มาก ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการแต่ละราย

กรุงเทพมหานครนับจากอดีตเป็นต้นมา การขยายตัวของเมืองเป็นไปตามการพัฒนาเส้นทางคมนาคม การตัดถนนเส้นใหม่ ความเจริญเกิดขึ้น ถนนขยายไปที่ใดประชาชนก็จะขยายไปอยู่อาศัยตาม โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟฟ้า ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีถนนเพียง 4% ของพื้นที่ ซึ่งในความเป็นจริงจะต้องมีถนน 20-24% แต่เนื่องจากเมืองขยายจนแน่น การก่อสร้างถนนทำได้ยากลำบาก ต้องเวนคืนที่ดินจำนวนมาก บางครั้งค่าเวนคืนแพงกว่าค่าก่อสร้างถนนมาก ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้า มีการซื้อที่ดินไว้รอพัฒนาตั้งแต่เริ่มมีโครงการก่อสร้างจนแทบจะไม่มีที่ดินเหลือ ราคาที่ดินปรับตัวขึ้นไปสูงมาก แม้ว่ารถไฟฟ้าจะยังสร้างไม่เสร็จ

จากจำนวนประชากรที่เข้ามาอาศัยในกรุงเทพฯ จำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการจราจร รถติด ในขณะที่การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทำได้อย่างล่าช้า มีหลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหาการเวนคืน ดังนั้น ทางแก้ปัญหาการจาจรที่ดี คือ เพิ่มประสิทธิภาพในระบบขนส่วนมวลชน เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชน แทนการใช้รถส่วนตัว เช่น การปรับเส้นทางรถเมล์ให้มีความเหมาะสม มีเส้นทางที่เชื่อมโยงกัน

ด้าน นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เป็นโอกาสที่ดีต่อภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทย ที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับไทยมีเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ค่อนข้างสูง ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน (สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะออกออกไปลงทุนในประเทศที่มีเทคโนโลยีต่ำกว่า

ส่วนการที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลเป็นผู้นำภาคเอกชนไทยไปรับงานยังต่างประเทศนั้น ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงติดปัญหาบางประการ อาทิ หากเป็นการลงทุนโดยรัฐวิสาหากิจยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากปัญหาของ พ.ร.บ.การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ ที่มีข้อจำกัดในการลงทุน ซึ่งจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. เพื่อให้สามารถลงทุนได้หลากหลาย

อย่างไรก็ดี ปัญหาแรงงานขาดแคลนในขณะนี้ ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ต้องนำเข้าแรงงานต่างชาติ ขณะเดียวกัน ได้หันมาใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นการชดเชยมากขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้สามารถลดระยะเวลาการทำงาน แต่ต้องมีการกำหนดเรื่องของมาตรฐานที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างของไทยเติบโตในทิศทางที่ดี และต่อเนื่อง

นายรัฐภูมิ ปริชาตปรีชา รองประธานคณะกรรมการวิชาการ สาขาคอนกรีต วัสดุ และการก่อสร้างสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (TCA) กล่าวว่า เทรนด์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ขณะที่กรุงเทพฯ ถือว่าเป็นเมืองที่มีการเติบโตของจำนวนประชากรในอัตราที่สูงอันดับต้นๆ หรืออันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชีย ทำให้ภาคการก่อสร้างขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เทรนด์ของวัสดุการก่อสร้าง เน้นความคงทนเพื่อรองรับการใช้งานระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มคอนกรีตที่ต้องมีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีในการซ่อมแซมตัวเอง หรือเป็น “กรีนคอนกรีต” ที่ลดปริมาณการใช้ซีเมนต์ เพื่อลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายดูแลรักษาในส่วนนี้

นายเกียรติศักดิ์ รุ่นพระแสง ผู้จัดการศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคาร เพื่อการอนุรักษ์พลังงานกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่มีการใช้พลังงานสูง ดังนั้น การออกแบบก่อสร้างอาคารจะต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงาน เนื่องจากปัจจุบัน การยื่นแบบก่อสร้างอาคารในเรื่องประหยัดพลังงานเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานมีผู้เชี่ยวชาญในด้านอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทน โดยมีกองทุน RF ที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อขอกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือ 3%


กำลังโหลดความคิดเห็น