xs
xsm
sm
md
lg

บล.เคทีบี ชี้แรงกดดันดอกเบี้ยเฟด กดดัน SET Index แกว่งแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“KTBST” มองตลาดหุ้นไทย เดือนกันยายนปรับตัวผันผวนแรง รับปัจจัยเรื่องการพิจารณาขึ้น ดอกเบี้ยของ Fed กดดันเงินทุนไหลออก ทำกำไรตลาดไตรมาส 3 ลดลงหนักทั้ง กลุ่มแบงก์ และกลุ่มพลังงาน คาดกรอบดัชนีเดือนนี้แตะ 1,530-1,580 จุด คาดสิ้นปีมีโอกาสทะยานถึง 1,600 จุด แนะลดน้ำหนักลงทุน เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อรอบใหม่

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเดือนกันยายนว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ต้องจับตาการประชุม FOMC ของสหรัฐฯ ในวันที่ 20-21 กันยายน จะเป็นปัจจัยหลักต่อตลาดหุ้นไทย ทั้งก่อน และหลังการประชุมเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนการประชุมดังกล่าวจะเคลื่อนไหวรับแนวโน้มข่าวอยู่ตลอดจนถึงวันการประชุม หุ้นไทยจะมีการเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบได้ แต่หากนักลงทุนไม่เชื่อว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ ก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นไปต่อได้ และหลังจากประชุม FOMC แล้ว หากมีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะขึ้นที่ 0.25% จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยในเรื่องเงินทุนไหลออก นักลงทุนต้องปรับพอร์ตการลงทุน เพื่อรับภาวะการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีขึ้น ถือว่าเป็นข่าวที่ดีเช่นกัน แต่หากยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ตลาดก็ยังมีทิศทางไปต่อได้ และก็กลับมารับข่าวจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งๆต่อไปใหม่

“ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นไทยกว่า 1 แสนล้านบาท ถือว่าค่อนข้างมาก ในเดือนกันยายนนี้น่าจะมีเงินไหลเข้าน้อยลง และหาก Fed ขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทย ซึ่งนั้นจะส่งผลให้ระดับ P/E หุ้นไทยลดลง”

ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยที่น่าสนใจ คือ เรื่องกำไรของตลาดในไตรมาส 3 ที่ บล. KTBST ได้ทำรายงาน และประเมินข้อมูลเบื้องต้นว่า กลุ่นธนาคาร และกลุ่มพลังงาน ปิโตเคมี จะมีผลกำไรในไตรมาสที่ 3 ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้กำไรโดยรวมของตลาดปรับตัวลงเหลือประมาณ 2.3 แสนล้านบาท จากไตรมาส 2 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท โดยกลุ่มธนาคาร ที่มีแนวโน้มกำไรลดลง เนื่องจากมีการตั้งสำรองหนี้สูญ และในกลุ่มพลังงานที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันที่ต่ำกว่าไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฐานกำไรของตลาด ไตรมาสที่ 3 ของปีก่อนที่ค่อนข้างต่ำ จะเป็นผลให้ค่า P/E ของตลาด เมื่อใช้กำไรไตรมาสที่ 3 จะลดลงจากระดับที่ 22 เท่า ลงมาอยู่ที่ 17 เท่า และมองกรอบดัชนีหุ้นไทยในเดือนกันยายน จะเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบที่ระดับ 1,530-1,580 จุด แต่แนวโน้มทั้งปี เรายังมองดัชนีหุ้นไทยน่าจะไปถึงระดับ 1,600 จุดได้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัว หากระดับ P/E ลดลงมาอยู่ที่ 17 เท่า จึงถือว่า “ถูก” เมื่อเทียบกับระดับ 22 เท่าในปัจจุบัน

“สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือนกันยายนนั้น เรามองว่า ตลาดยังมีความผันผวน ทั้งก่อน และหลังประชุม FOMC และปัจจัยบวกต่อตลาดเริ่มมีน้อยลง จึงแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อในรอบใหม่ รวมถึงจับตาดูการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างประเทศ โดยหุ้นในกลุ่มที่แนะนำ คือ กลุ่มที่มีผลการดำเนินงานต่อเนื่อง และกลุ่มที่มีความปลอดภัยสูงไม่เหวี่ยงตามตลาด หุ้นเด่น ได้แก่ ERW, FORTH, JMART, MBAX”


นอกจากนี้ ในปลายเดือนกันยายน จะมีการประชุมกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในวันที่ 26-28 กันยายน เพื่อพิจารณาในเรื่องกำลังการผลิต ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ตลาดคาดว่า จะสามารถตกลงกันได้ในเรื่องการควบคุมปริมาณน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลดีต่อประเทศผู้ผลิต และส่งออกน้ำมัน มองราคาน้ำมัน ในเดือนกันยายน เคลื่อนไหวในกรอบ 40-50 เหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น