xs
xsm
sm
md
lg

“มหานคร” ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปมร้อน “มหานคร” ใช้สถาปนิกชาวต่างชาติออกแบบ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ร้องผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ด้านปลัดกระทรวงแรงงาน ยันไม่ผิด หากทำงานในสังกัดบริษัทจดทะเบียนในไทย ด้านผู้บริหาร “มหานคร” ยันดำเนินการทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“มหานคร” ตึกที่สูงที่สุดในเมืองไทย ด้วยความสูงที่ 77 ชั้น 314 เมตร เปิดตัวยิ่งใหญ่ไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 59 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่องาน“มหานคร แบงค็อก ไรซ์ซิ่ง เดอะ ไนท์ ออฟ ไลท์” (MAHANAKHON : BANGKOK RISING, THE NIGHT OF LIGHTS) งานแสดง ไลท์ โชว์ (Light Show) สุดอลังการจนเป็นที่กล่าวถึงอยู่ในขณะนี้ ตัวอาคารมีดีไซน์ที่โดดเด่น และไม่เหมือนใคร จุดเด่นก็คือ ริบบิ้นสามมิติวนล้อมรอบตัวอาคาร และมี Sky Box มองเห็นวิวกรุงเทพฯ ผ่านกระจกได้ 270 องศา ราวกับลอยอยู่บนฟ้า จนได้รับขนานนามจากสื่อต่างชาติยกให้เป็นอาคารใหม่ที่มีรูปร่างที่แปลก และน่าหลงใหล ผลงานการออกแบบได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชนในปี 2552 และในปี 2553 มีการสร้างเซลแกลอรี่ หรือสำนักงานขายในปี 2554 ได้เริ่มการก่อสร้าง และในปี 2557 ได้เปิดให้บริการอาคารรีเทลเป็นครั้งแรก ในขณะที่อาคารหลักได้สร้างถึงจุดสูงสุด และเสร็จสมบูรณ์ในปี 2559

ท่ามกลางเสียงชื่นชม “สรพจน์ เตชะไกรศรี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เขาใช้เวลาในการพัฒนาโครงการนี้มากกว่า 8 ปี โดยผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก คือ บริษัท บวิค-ไทย จำกัด และกลายเป็นร้อนขึ้นมา 1 วันหลังจากเปิดตัว นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะเข้ายื่นหนังสือกล่าวโทษผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพาณิชย์ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ชั้น 9 อาคารศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อให้มีการตรวจสอบกรณีตึก “มหานคร” ปรากฏข้อมูลเป็นการทั่วไปว่า ตึกดังกล่าวออกแบบโดย นายโอเลอ เซเริน สถาปนิกชาวเยอรมัน อดีตสถาปนิกจากสำนักงานสถาปัตยกรรมมหานคร (OMA) ของแร็มโกลาส ซึ่งการใช้สถาปนิก หรือผู้ออกแบบเป็นคนต่างด้าวนั้น น่าจะขัด หรือแย้งต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 โดยชัดแจ้ง ซึ่งอาชีพดังกล่าวกฎหมายสงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้นที่จะประกอบอาชีพได้ในประเทศไทย

ปลัดแรงงาน แจงสถาปนิกต่างชาติออกแบบตึกมหานครไม่ผิด

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนว่า ตึกมหานครอาคารสูงสุดในประเทศไทยที่เพิ่งมีการเปิดตัว ใช้สถาปนิกต่างชาติออกแบบ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ฉบับ เนื่องจากสถาปนิกเป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยว่า เรื่องดังกล่าวหากสถาปนิกเยอรมัน ทำงานในสังกัด หรือบริษัทที่มีการลงทุน หรือจดทะเบียนในประเทศไทย ก็สามารถทำงานออกแบบได้ ไม่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากสถาปนิกคนดังกล่าวเป็นฟรีแลนซ์ แล้วถูกจ้างพิเศษให้มาออกแบบ ก็ต้องมาดู และตรวจสอบเงื่อนไขก่อน

ด้าน นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก และนักออกแบบชาวไทย ได้ออกมาให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Duangrit Bunnag ระบุว่า Buro Ole Sheeren เป็นบริษัทสถาปนิกที่จดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายแล้วในประเทศไทย โดยขึ้นทะเบียนกับสภาสถาปนิก และมีกรรมการผู้จัดการเป็นคนไทย ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นายคิบซาน ออสโล เบ็ค ผู้จัดการ โครงการมหานคร บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินการพัฒนาโครงการมหานคร อย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการก่อสร้าง หรือการออกแบบ

เปิดใจ”สรพจน์” สร้าง”มหานคร”ให้เป็นสัญลักษณ์กรุงเทพฯ

นาย สรพจน์ ได้กล่าวบนเวทีในงานเปิดตัวมหานครว่า เคยตั้งใจไว้จะทำตึกสูงที่สุดในประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็มีคนถาม มีความคิดยังไงถึงมาทำโครงการนี้ ตั้งแต่เริ่มต้น เป้าหมายการทำโครงการนี้มีมากกว่าผลตอบแทนทางธุรกิจ มีความตั้งใจที่อยากจะให้ตึกนี้เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เด็กๆ ได้ไปเรียนต่างประเทศ มีโอกาส ทำงาน พอต่างชาติรู้ว่ามาจากเมืองไทย จะถามว่า ประเทศยูมีที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อาหารอร่อย มีวัดไทย วัฒนธรรมไทย คนไทย อาหารไทย แต่ไม่ค่อยมีคนบอกว่าประเทศไทยเป็นเมืองที่ทันสมัย เศรษฐกิจน่าสนใจ มองว่าไม่ได้ตรงกับความเป็นจริง เลยตั้งใจอยากสร้างตึกที่เป็นแลนด์มาร์ก หวังสร้างมุมมองใหม่ให้ต่างชาติเห็นอีกมิติหนึ่ง คือ ทันสมัย เศรษฐกิจดี ตั้งใจตรงนี้ก็เลยพัฒนาโครงการนี้ขึ้นมา อีกเรื่องที่สำคัญ คือ อยากสร้างความเชื่อมั่นให้คนไทย สามารถที่จะไปแข่งขันต่างประเทศ หรือระดับโลกได้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “มหานคร” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่ สมกับชื่อกรุงเทพมหานคร

“ขอบคุณทุกๆ ท่านที่มีส่วนสำคัญให้โครงการสำเร็จ ไม่ว่าเจ้าของที่ดินเดิม ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทิสโก้ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะเป็นตึกที่สร้างยากมาก บริษัทที่ปรึกษาออกแบบ 3-4 บริษัทที่เราใช้ในโครงการ บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย หน่วยงานภาครัฐในหลายหน่วยงานที่อนุมัติ เพราะเป็นตึกสูงที่สุด ทุกคนก็ตื่นเต้นหมด ต้องไปอธิบายว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ผู้บริหาร และทีมงานของเพซฯ ทุกคน ที่สำคัญขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุนมาตลอด เพราะรู้ว่าผมตั้งใจกับโครงการนี้มากว่า 8 ปี โดยเฉพาะคุณแม่ที่ช่วยให้กำลังใจ รวมไปถึงอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ดูเหมือนค่อนข้างจะได้ผล ดูอย่างเรื่องฝนที่ตกวันนี้ก็อาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดี” นายสรพจน์ กล่าว

“มหานคร” เป็นโครงการแบบ mixed-use ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 9 ไร่ ภายในโครงการประกอบด้วย ที่พักอาศัย โรงแรม และรีเทล มูลค่าโครงการ 22,000 ล้านบาท ที่ตั้งอยู่ติดสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี ประกอบด้วยอาคารหลักทั้งหมด 3 อาคาร ได้แก่

1.มหานคร ทาวเวอร์ ความสูง 77 ชั้น หรือ 314 เมตร ประกอบด้วย : ชั้น 1-20 โรงแรมบางกอก เอดิชั่น โรงแรมรูปแบบบูติค บริหารโดย เดอะริทซ์-คาร์ลตัน จำนวน 155 ห้อง

ชั้น 23-73 เดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซสบางกอก ที่พักอาศัยระดับซูเปอร์ลักชัวรี จำนวน 209 เรสซิเดนซ์ ทุกเรสซิเดนซ์มอบพื้นที่รายล้อมด้วยกระจก สร้างบรรยากาศราวกับลอยอยู่บนฟ้า พร้อมด้วยบริการระดับ 5 ดาว ในมาตรฐาน เดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนซ์ โดยมีขนาดตั้งแต่ 125-844 ตารางเมตร (2-5 ห้องนอน) ราคาต่อเรสซิเดนซ์ในขณะนี้เริ่มตั้งแต่ 45 ไปจนถึง 300 ล้านบาทโดยประมาณ โดยแต่ละเรสซิเดนซ์เป็นกรรมสิทธิ์แบบฟรีโฮลด์ ซึ่งปัจจุบันมียอดขายกว่า 70%

ชั้น 74-77 จุดชมวิว Sky Observation Deck’ และบาร์ดาดฟ้าเอาต์ดอร์ สำหรับชมทัศนียภาพของกรุงเทพฯ ได้อย่างสวยงามในทุกจุดแบบพาโนราม่าที่ความสูง 314 เมตร พร้อมด้วยทางเข้าแบบเป็นส่วนตัว พร้อมพื้นที่รีเทล และพื้นที่แสดงจัดนิทรรศการบริเวณชั้นล่างของอาคาร

2.มหานคร คิวบ์ อาคารไลฟ์สไตล์รีเทลความสูง 7 ชั้น รวบรวมร้านอาหารชั้นนำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย อาทิ ร้านอาหารโดยเชฟมิชลินสตาร์มากที่สุดในโลก “ลัตเตอลิเย เดอ โจเอล โรบูชง กรุงเทพฯ” ร้านอาหารในเครือกอง เด้ นาสต์ เรสเตอรองแห่งแรกในไทย “โว้ก เลาจน์” แบรนด์อาหาร และเครื่องดื่มกูร์เมต์ระดับไอคอนของนิวยอร์ก “ดีน แอนด์ เดลูก้า” ร้านอาหารจีนที่รังสรรค์เมนูอาหารอย่างปราณีตบรรจง โดย เชฟแมน “เอ็ม ครับ” ร้านอาหารญี่ปุ่น โดยเชฟกระทะเหล็กชื่อดังของสหรัฐอเมริกา “โมริโมโตะ”

นอกจากนี้ มหานคร คิวบ์ ยังรวมร้านที่ให้บริการด้านไลฟ์สไตล์อื่นๆ ได้แก่ “เวริทา เฮลท์” คลินิกพิเศษเพื่อการดูแล และฟื้นฟูสุขภาพเฉพาะบุคคล “ดิจิตอล เวนเจอร์ส” ให้บริการด้านการให้คำปรึกษา แนะนำ วางแผน และพัฒนาด้านสื่อการตลาดออนไลน์เพื่อธุรกิจ startup ร้านสำหรับแฟชั่นผู้ชาย “ดอนส์ ฟุทแวร์” และ “มหานคร บีสโปค เทลเลอริ่ง” และ มหานคร สแควร์ ลานอเนกประสงค์ บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร สำหรับจัดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น โชว์ศิลปะ หรือคอนเสิร์ต เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน มหานคร คิวบ์ ได้เปิดให้บริการแล้วในส่วนของ เรสซิเดนซ์, โรงแรม และจุดชมวิว จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปีหน้า

และ 3. อาคารจอดรถ ที่จอดรถระบบอัจฉริยะสามารถจอดรถได้ 485 คัน


กำลังโหลดความคิดเห็น