>>ถ้าให้ลองนึกถึงสถาปนิกชั้นแนวหน้าของเมืองไทย เชื่อว่า ชื่อของ “ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค” สถาปนิกผู้ออกแบบอาคาร โรงแรม และสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่มากมาย สร้างชื่อมาแล้วทั้งในและต่างประเทศคงไม่มีทางหลุดโผ แต่ถ้าลงลึกไปถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ชายมาดเซอร์คนนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วเขาเป็นผู้ชายที่รักการผจญภัย และฝันอยากมีรถบ้านเป็นของตัวเองมานานแสนนาน
“ผมฝันมานานแล้วว่าอยากจะมีรถบ้าน เคยเห็นแต่ในหนังสือ แต่ไม่คิดว่าในประเทศไทยจะมีตัวแทนจำหน่าย จนวันหนึ่งผมขับรถผ่านแล้วเห็นมีร้านตัวแทนจำหน่าย ผมใช้เวลาคิดสั้นมาก ตัดสินใจจอดรถลงไปถามตั้งใจจะซื้อเลย แต่ปรากฏว่าทางร้านจะขายแบบจ่ายสด (ราคาประมาณ 2 ล้านบาท) แต่ผมอยากซื้อแบบเงินผ่อน สุดท้ายตกลงกันไปตกลงกันมา พอเห็นว่าเป็นรถมีทะเบียน สามารถจัดไฟแนนซ์ได้ ทางร้านเลยยอมให้ผมผ่อน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกเลยนะที่มีคนซื้อรถบ้านแบบผ่อนได้ (หัวเราะ)”
แม้จะผ่านมา 2 ปีแล้ว ที่สถาปนิกคนดังได้เป็นเจ้าของรถบ้าน Airstream รุ่น Bambi เป็นคนแรกของประเทศไทย แต่ภาพความทรงจำในวันแรกพบกับรถบ้านคันนี้ยังชัดเจนในหัว คุณด้วงอธิบายถึงเหตุผลที่ประทับใจรถรุ่นนี้ตั้งแต่แรกเห็นว่า ถึง Bambi จะเป็นรถบ้านรุ่นเล็กที่สุดของแบรนด์ Airstream มีขนาดพื้นที่เพียง 16 ฟุต แต่ออกแบบฟังก์ชันการใช้งานภายในได้ครบครัน กะทัดรัด ไม่ว่าจะเป็นโซนนั่งเล่น ที่มีโต๊ะพับได้ และสามารถปรับเป็นเตียงนอนได้ มีเคาน์เตอร์ทำอาหาร มีทั้งห้องน้ำ และห้องนอนในตัว
“ผมชอบรูปลักษณ์ที่ดูป้อมๆ ของมัน ผมว่าน่ารักดี ซึ่งจริงๆ แล้วทางแบรนด์ตั้งใจออกแบบให้มีโครงสร้างเหมือนเครื่องบิน ใช้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักทำให้มีน้ำหนักเบา สะดวกในการเคลื่อนย้าย เพราะรถบ้านรุ่นที่ผมเลือกเป็นแบบใช้รถลาก ไม่มีเครื่องยนต์ ผมจะใช้เชฟโรเลตของที่บ้านลากเวลาไปไหนมาไหน ความยากของการใช้รถบ้านแบบลากคือ คนขับต้องมีความชำนาญ ต้องคำนวณ กะระยะถนนหนทางที่จะไปให้ดี เพราะรถบ้านมีปัจจัยเรื่องความสูง วงเลี้ยวของรถเข้ามาเกี่ยวข้อง เวลาจะถอยหลังแต่ละทีก็ค่อนข้างยาก”
อย่างไรก็ตาม คุณด้วงบอกว่า ถึงรถบ้านคันนี้จะออกไปผจญภัยต่างจังหวัด ในฐานะยานพาหนะคู่ใจของการแคมปิ้ง หรือเวลาไปงานเฟสติวัลเพียงปีละไม่กี่ครั้ง เนื่องจากเจ้าตัวมีตารางงานรัดตัว แต่ประสบการณ์ชีวิตรสชาติใหม่ที่ด้วงได้รับจากรถบ้านคันนี้ในเวลาสั้นๆ ก็ถือว่าคุ้มค่ามาก
“อย่างน้อยเวลาผมไปงานเฟสติวัลอย่างวันเดอร์ฟรุ๊ต ผมก็นำรถบ้านเข้าไปจอดในงานเลย ผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มากนะ ยิ่งเราเป็นสถาปนิก เรายิ่งตื่นเต้นที่วันหนึ่งเราสามารถขนบ้านหลังเล็กๆ เคลื่อนที่ไปไหนมาไหนด้วยได้ แถมบ้านหลังนี้ยังเป็นบ้านที่เราไม่ได้ออกแบบเองด้วย ตอนที่ซื้อมาผมไม่แต่งอะไรเพิ่มเลย เพราะผมว่าเขาทำออกมาดีแล้ว ถูกใจผมทุกอย่าง ส่วนเวลาที่ผมไม่ได้ออกทริป ผมจะเอารถบ้านมาจอดที่ออฟฟิศที่แจม แฟกตอรี่ เอาไว้มาหลบลูกน้องนอน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นเรื่องความคุ้มค่าในการใช้งาน คุ้มแน่นอน”
ด้วยความที่กลุ่มคนใช้รถบ้านในประเทศไทยอาจยังไม่บูมเหมือนในอีกหลายประเทศ แม้จะมีการรวมกลุ่มกันบ้าง แต่ในส่วนของสถาปนิกคนดังก็ยังไม่มีโอกาสไปเข้ากลุ่มกับใคร เพราะถ้าพอมีเวลาว่างจะไปตั้งแคมป์กับก๊วนเพื่อนและครอบครัวมากกว่า
“ผมพยายามหลอกให้เพื่อนๆ ซื้อรถบ้านบ้าง เพราะตอนนี้เล่นอยู่คนเดียว ถามว่าจากนี้ผมจะซื้อรถบ้านอีกไหม คงไม่แล้ว มีคันเดียวก็พอ เพราะรถบ้านก็ต้องมีการดูแลรักษา เหมือนเป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งนอกจากดูแลความสะอาด ก็ต้องดูแลเรื่องระบบต่างๆ ระบบแอร์ ห้องน้ำ โดยปกติถ้ารถบ้านไม่ได้ใช้งาน ก็ต้องชาร์จไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา พอเวลาลากไปก็ต้องใช้เครื่องปั่นไฟแทน”
ถามถึงเสน่ห์ของการขับรถบ้าน คุณด้วงกล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า การใช้รถบ้านเหมือนเป็นการฝึกตัวเราให้รู้จักวางแผนทุกย่างก้าวและฝึกการรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า
“มีครั้งหนึ่งผมขับรถบ้านไปแล้ว ไปจอดกินก๋วยเตี๋ยว ปรากฏตอนขาเข้าไม่มีปัญหา พอจะออกมา รถถอยลำบากมาก ผมก็ต้องยอมวิ่งอ้อมไปอีกไกลกว่าจะได้กลับรถและมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายต่อ หรือบางครั้งถ้าเราเดินทางด้วยรถบ้านไปกับเพื่อนก๊วนใหญ่ ต้องวางแผนเรื่องการจัดการของเสียบนรถ เพราะถ้าลำพังไปคนเดียว ห้องน้ำในรถอยู่ได้ 3-4 วันสบายๆ แต่มีครั้งหนึ่งผมอัดเพื่อนร่วมงานไปในรถหลายคน ก็ต้องคิดเผื่อไว้ก่อนว่า จะเรียกรถดูดส้วมมาจัดการห้องน้ำบนรถให้เรา สำหรับผม เหตุการณ์ที่ดูเหมือนเล็กน้อยเหล่านี้คือบทเรียนที่ทำให้ผมวางแผนกับทุกอย่างที่ทำอย่างรอบคอบ รัดกุม”
ถามตัวเองให้ชัด ก่อนตัดสินใจซื้อรถบ้าน
1.ถามตัวเองว่าแค่อยากได้ หรือซื้อมาแล้วได้ใช้ ถ้าซื้อมาแล้วจอดทิ้งไว้ เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
2.ถามตัวเองว่ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน ถ้าเป็นคนชอบผจญภัย ชอบคิดชอบแก้ปัญหา รถบ้านคือ คำตอบที่ถูกต้อง
3.ถามตัวเองว่าดูแลรถบ้านขนาดไหนได้ให้ซื้อแบบนั้น แนะนำว่าอย่าซื้อรถบ้านหลังใหญ่เกินความจำเป็นและการดูแล :: Text by FLASH