xs
xsm
sm
md
lg

“รพี” ย้ำนายจ้างเห็นความสำคัญกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะมีความสำคัญหลังเกษียณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.
ก.ล.ต.เชิญชวนนายจ้างทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยพนักงาน และลูกจ้างในองค์กรเห็นประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เครื่องมือสำคัญในการออมเพื่อรองรับการเกษียณอายุให้เพียงพอ สำหรับแรงงานในระบบเพิ่มเติมจากระบบประกันสังคม

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมของผู้สูงอายุในปี พ.ศ.2568 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ระบบบำเหน็จบำนาญ หรือระบบสวัสดิการแบบเดิมอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) จะเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับการออมเพิ่มเติมอีกอันหนึ่ง เพื่อรองรับการเกษียณอายุสำหรับแรงงานในระบบ นอกจากระบบประกันสังคมที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อเกษียณอายุ

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ในประเทศไทยมีอัตราสะสมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 และอัตราสมทบเฉลี่ยร้อยละ 5 ขณะที่กฎหมายอนุญาตให้ลูกจ้างสามารถสะสมได้ถึงร้อยละ 15 และนายจ้างสมทบได้ถึงร้อยละ 15 โดย PVD ส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ และเงินฝากในสัดส่วนสูงร้อยละ 85 ทำให้กองทุนมีผลตอบแทนต่ำเติบโตช้า เงินก้อนที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเกษียณอายุอาจไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ยังพบว่าสมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุมากกว่าร้อยละ 50 ได้รับเงินก้อนจำนวนไม่ถึง 1 ล้านบาท หากสมาชิกเหล่านี้มีอายุยืนต่อไปอีก 20 ปี จะมีเงินใช้ไม่ถึงเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอกับค่าครองชีพขั้นต่ำที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยประเมินไว้ว่า ควรมีอย่างน้อยเดือนละ 10,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้มีการสนับสนุนให้นายจ้างทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยผลักดันให้ PVD เป็นเครื่องมือการออมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน และลูกจ้างในยามเกษียณ โดยนายจ้างสามารถช่วยออกแบบ PVD ให้พนักงาน และลูกจ้างออมเงินได้อย่างสะดวก เช่น ใช้ระบบอัตราสะสมเพิ่มขึ้นเมื่อเงินเดือน หรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ และจัดให้มีทางเลือกการลงทุน (employee’s choices) ที่เหมาะกับสมาชิก ในขณะที่ผลักดันให้มีทางเลือกกองทุนหลากหลายประเภท อาทิ กองทุนแบบ life path หรือ target date fund ที่บริษัทจัดการจะทำหน้าที่เลือกการลงทุนที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงตามช่วงอายุ และระยะเวลาการลงทุนของสมาชิกแต่ละราย โดยที่สมาชิกไม่ต้องตัดสินใจเอง

นอกจากนี้ นายจ้างยังสามารถส่งเสริมการให้ความรู้ หรือมีเครื่องมือช่วยสมาชิกให้รู้จักออมเพื่อการเกษียณอย่างเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนให้กรรมการกองทุนมีความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลประโยชน์ให้สมาชิกได้อย่างเต็มที่ ซึ่ง ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์ทำให้ลูกจ้างสามารถออมเงินได้เพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบกับนายจ้าง นอกจากนี้ สมาชิก PVD จะมีทางเลือกในการรับเงินเป็นงวด โดยไม่ต้องเอาออกมาทั้งก้อน และสามารถโอนเงินไปออมต่อเนื่องในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้ สนับสนุนให้กรรมการ และสมาชิกมีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนด หรือเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม ส่วนการให้ความรู้ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุนและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกันให้ความรู้ผ่านสื่อ และกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นายจ้าง และสมาชิกใช้ PVD ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวกับการเกษียณอายุมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น คนอายุยืนขึ้น ค่าครองชีพโดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้นมาก ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำให้อัตราผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงสร้างการเติบโตให้เงินกองทุนก็มีความผันผวนสูงมาก ทำให้การบริหารจัดการ PVD ให้สมาชิกมีเงินเกษียณเพียงพอทำได้ยากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ และใส่ใจการเสริมสร้าง PVD ให้เป็นเครื่องมือการออมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงาน และลูกจ้างในยามเกษียณให้ได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น