รมว.คลัง กำชับ ก.ล.ต.ดูแลปัญหาการขาย BE ให้กับรายย่อย และเรียกร้องให้บริษัทขนาดใหญ่ดูแลบริษัทขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งระบบ
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานร่วมเปิดตัว “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน สำนักผู้ลงทุนสถาบัน I Code” โดยระบุว่า การพัฒนาตลาดทุนแบบยั่งยืนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อต้องการให้บริษัทขนาดใหญ่ช่วยเหลือดูแลบริษัทขนาดเล็ก ยอมรับว่า ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แม้จะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวหักลดหย่อนภาษีได้
ดังนั้น จึงต้องการให้บริษัทขนาดใหญ่คำนึงถึงธรรมภิบาล เพื่อช่วยกันดูแลสังคม อีกทั้งมองว่า ตั๋วแลกเงิน (BE) ห้ามขายให้กับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากต้องใช้ความรู้ประเมินศักยภาพของผู้ออกตั๋ว BE แต่ได้มีการนำช่องว่าง เพื่อต้องการทำยอดขาย จึงนำตั๋ว BE ออกขายให้กับนักลงทุนรายย่อย จนเกิดความเสียหายจำนวนมาก ผลกระทบจึงตกกับนักลงทุนรายย่อย จึงหวังว่าการทำสัญญาครั้งนี้ต้องมีจิตสำนึกดูแลนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น
สำหรับการเปิดตัวหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับนักลงทุนสถาบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หลายฝ่ายจะร่วมมือเพื่อทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง นั่นคือ การนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะเมื่อปฏิบัติให้เกิดผลอย่างแท้จริงแล้ว ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็จะตกอยู่กับตัวผู้ปฏิบัตินั่นเอง ถือเป็นการตอบโจทย์ภาพลักษณ์ที่ดีในภาคการลงทุนกับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจในการดึงดูดการลงทุนได้เป็นอย่างดี
"สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือ คน ที่จะทำให้เกิดผลอย่างแท้จริง โดยผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ว่าควรเดินต่อไปในทิศทางใด และสิ่งที่ปฏิบัติไม่เพียงแต่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลเท่านั้น แต่ต้องดูด้วยว่าสามารถดูแลสังคมได้ไหม ต้องยอมรับว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีช่องว่าง และข้อจำกัดค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามส่งเสริมโดยการลดช่องว่างดังกล่าว ผ่านความพยายามในการดูแลผู้มีรายได้น้อย จากการจัดงบประมาณและสิ่งที่จำเป็นลงไปดูแลอย่างต่อเนื่อง"
รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ขณะที่ในมุมของภาคธุรกิจก็สะท้อนผ่านโครงการพี่ช่วยน้อง เพื่อทำให้การช่วยเหลือเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ บริษัทใหญ่ องค์กรขนาดใหญ่ที่มีความสามารถจะเข้าไปดูแล ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาบริษัท หรือองค์กรที่มีขนาดเล็กกว่า และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนนี้บริษัทขนาดใหญ่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ถือเป็นการช่วยเหลือในด้านหนึ่งที่สำคัญตามแนวทางประชารัฐที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
สำหรับผู้บริหาร หรือผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ก็ไม่ควรนึกถึงผลประโยชน์ หรือผลงานของตัวเองมากจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดผลกระทบในด้านอื่น ๆ ตามมา เช่นที่ผ่านมา บริษัทประกัน หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางแห่งทำธุรกิจโดยขาดธรรมาภิบาล โดยการนำตั๋ว B/E ที่ไม่มีเรตติ้งมาขายให้นักลงทุนรายย่อย ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของจิตสำนึกของผู้บริหารด้วย
"ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดว่าตั๋ว B/E ที่ไม่มีเรตติ้งไม่สามารถนำมาขายให้นักลงทุนรายย่อยได้ ตรงนี้เองทำให้บริษัทที่มีการออกตั๋วบีอีที่ไม่มีเรตติ้งมาขายเกิดปัญหา และเมื่อนักลงทุนสถาบันอย่างบริษัทประกัน หรือ บลจ.ทำธุรกิจแบบขาดจิตสำนึกไปซื้อตั๋ว B/E ดังกล่าวแล้วมาขายนักลงทุนรายย่อยจนเกิดผลกระทบ ต้องยอมรับว่ามีการทำธุรกิจลักษณะนี้เยอะในอดีต พอทุกคนต้องแข่งกัน แต่ปัจจุบันเลิกหมดแล้ว ตรงนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างแนวทางในการทำธุรกิจแบบขาดจิตสำนึก ไม่มีธรรมาภิบาลเท่านั้น"
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ภาคเอกชนในตลาดเงินตลาดทุน 53 หน่วยงานได้ร่วมดูแลเงินลงทุนกว่า 12 ล้านล้านบาท ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ยึดหลักปฏิบัติ I Code 7 ข้อ ภาคเอกชนที่ร่วมประกาศเพื่อต้องการพัฒนาตลาดทุน เนื่องจากการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนจะพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์ และการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยตัวกิจการเอง รวมถึงการมีแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด (market force) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุนสถาบัน ดังนั้น I Code จึงช่วยสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยมี market force ที่เข้มแข็ง
หลักปฏิบัติ I Code ได้ใช้แนวทางเดียวกับสากล เพื่อเป็นกรอบจริยธรรม และความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลงทุน และการปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า ประกอบด้วยหลักปฏิบัติสำคัญ 7 ข้อ ซึ่งผู้ลงทุนสถาบันได้ทำอยู่แล้ว 2 เรื่อง คือ การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ และการเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียง และผลการใช้สิทธิออกเสียง และมีเรื่องที่ต้องทำเพิ่มอีก 5 ข้อ กล่าวคือ การกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุนที่ชัดเจน ตัดสินใจ และติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิด และทันเหตุการณ์ เพิ่มระดับการติดตามบริษัทที่ลงทุน
ทั้งนี้ หากพบว่าบริษัทมีการดำเนินงานที่อาจมีข้อสังเกตด้านธรรมาภิบาล เข้าข่ายขัดแย้งทางผลประโยชน์ ผู้ลงทุนสถาบันก็จะออกหนังสือขอให้บริษัทชี้แจง ขอเข้าพบกรรมการอิสระ หรือกรรมการตรวจสอบ และถ้าเห็นว่ายังเพิกเฉย ก็อาจประชุมร่วมกับผู้ลงทุนสถาบันอื่นๆ เพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ