xs
xsm
sm
md
lg

ทีพีซี เพาเวอร์ฯ วางแผนปั๊มรายได้โต 3 เท่าในปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง วางเป้ารายได้โต 3 เท่าในปี 62 หลังเดินเครื่องขายไฟฟ้าครบเป็น 140 เมกะวัตต์ เผยในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือจากทั้งใน และต่างประเทศ เพิ่มเป็น 350 MW คาดสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปดีลร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเขื่อนขนาดเล็ก 2 โครงการในลาว

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายมีรายได้ และกำไรสุทธิเติบโตเป็น 3 เท่าในปี 62 จากปีนี้ตามกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ที่จะเพิ่มเป็น 140 เมกะวัตต์ (MW) จากปีนี้ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ COD เพียง 40 MW ขณะทุ่มประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ครั้งที่ผ่านมา แม้จะได้ค่าไฟฟ้าต่ำราว 3.2 บาท/หน่วย จากปกติราว 5 บาท/หน่วย แต่ยืนยันว่า อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) จะไม่ต่ำกว่า 15% พร้อมทั้งได้ครองพื้นที่กึ่งผูกขาดผลิตไฟฟ้าชีวมวลในภาคใต้ด้วย

“กำไรเราจะเติบโตตามเป้าปี 59 เราจะผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็นราว 40 เมกะวัตต์ จากปีที่แล้ว 20 เมกะวัตต์ ปีหน้าก็เพิ่มเป็นอย่างน้อย 60 เมกะวัตต์ และปี 61 ก็จะเพิ่มเป็น 100 เมกะวัตต์ และปี 62 ที่ประมูลมาได้ก็จะอยู่ในนี้หมดเลย ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 140 เมกะวัตต์ growth เราก็โตตามกำลังผลิต มองตัดจากปีนี้ 40 เป็น 140 เมกะวัตต์ ก็อย่างน้อย 3 เท่า ทั้งกำลังการผลิต รายได้ และกำไร 3 ตัวนี้ก็จะโตเป็น 3 เท่าในช่วงนี้ถึงปี 62 ซึ่งยังไม่นับรวมโครงการในต่างประเทศ” นายเชิดศักดิ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ TPCH ตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 200% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 304.9 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 46.61 ล้านบาท โดยในปีที่แล้วบริษัทรับรู้รายได้ และกำไรจากโรงไฟฟ้า 2 แห่ง กำลังการผลิตรวมประมาณ 20 MW

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือจากทั้งใน และต่างประเทศ เพิ่มเป็น 350 MW โดยมาจากในประเทศ 250 MW แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 200 MW และโรงไฟฟ้าขยะ 40-50 MW ส่วนในต่างประเทศวางเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 MW ปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือเฉพาะในประเทศราว 110 MW ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งหมด 

โดยโรงไฟฟ้าปัตตานี กรีน ที่ TPCH ถือหุ้น 65% กำลังผลิตรวม 46 MW ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุญาตในเดือน ก.ย.นี้ โครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก 23 MW คาดว่าจะได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในเดือน ก.ย. โดยจะเริ่มโครงการ และดำเนินการผลิตในปี 61 ส่วนระยะที่ 2 อีก 23 MW อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้า (LOI) จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังยื่นเสนอโครงการไปแล้ว 2 ปีก่อน ที่ทางรัฐบาลจะปิดรับซื้อไฟฟ้าในระบบ adder เชื่อว่าหากได้รับอนุมัติก็จะแปลงจาก LOI เป็น PPA และสามารถดำเนินโครงการได้

สำหรับโครงการที่เพิ่งประมูลได้ใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ โรงไฟฟ้า ทีพีซี เพาเวอร์ 1 (TPCH1) โรงไฟฟ้า ทีพีซี เพาเวอร์ 2 (TPCH2) และโรงไฟฟ้า ทีพีซี เพาเวอร์ 5 (TPCH5) แต่ละโครงการถือหุ้นโครงการละ 65% โดย TPCH1 และ TPCH2 มีกำลังผลิตแห่งละ 10 MW ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันใน จ.ยะลา ทำให้สามารถใช้สาธารณปูโภคร่วมกันได้บางอย่าง ส่งผลให้สามารถประมูลค่าไฟฟ้าได้ในระดับต่ำ ส่วน TPCH5 มีกำลังผลิตราว 6 MW ตั้งอยู่ใน จ.นราธิวาส โดยโครงการทั้งหมดจะต้อง COD ภายในเดือนธ.ค.61

“ค่าไฟที่เราประมูลได้เฉลี่ย 26 เมกะวัตต์ โดยรวมอยู่ที่ 3.2 บาทต่อหน่วย เท่ากับโครงการช้างแรกซึ่งเป็นโครงการแรกที่เราดำเนินการไป เราให้ความสำคัญในแง่ยุทธศาสตร์ที่เราเชื่อว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้กว่าจะเปิดอีกรอบคงอีกนาน ถ้าเราประมูลได้ลักษณะเราก็จะคล้ายๆ กึ่งผูกขาด วันนี้เรามีปัตตานี 1 อยู่ตรงนั้นแล้ว 23 เมกะวัตต์ และปัตตานี 2 ก็จะได้อีก 23 เมกะวัตต์ และประมูลได้อีก 26 เมกะวัตต์ รวมกันตรงนั้นเราก็จะมี 70 เมกะวัตต์ ในแง่ยุทธศาสตร์เราจะเป็นรายใหญ่ในพื้นที่ และเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็จะเป็นผู้ซื้อไม้รายใหญ่ราคาวัสดุก็จะไม่ผันผวน ถ้าเราเปิดโอกาสให้คู่แข่งเข้ามาได้ก็ต้องแย่งซื้อไม้กัน...ค่าไฟที่เราประมูลได้เป็นราคาที่เราทำโรงแรกที่เป็นแบบ adder อยู่แล้ว ฉะนั้น ตัวกำไรเทียบแล้วกำไรน่าจะดีกว่าช้างแรกด้วย” นายเชิดศักดิ์ กล่าว

นายเชิดศักดิ์ กล่าวถึงการเข้าซื้อหุ้น 45% ในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชน ขนาดราว 10 MW และมีแผนที่จะเสนอขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐราว 8 MW ว่า แม้ปัจจุบัน ภาครัฐจะยังไม่ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับ PPA จากโครงการดังกล่าว เนื่องจาก SP ได้รับสัญญาบริหารจัดการขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) 3.8 ล้านตัน ภายใน 10 ปี เพียงพอจะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง (RDF) เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 20 ปี และยังมีโอกาสที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะแห่งที่ 2 ได้อีกในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกร่างประกาศ และหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT มีเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าที่กำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 100 MW เบื้องต้นจะให้ยื่นคำร้อง และข้อเสนอขอขายไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค.59 และประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก วันที่ 17 พ.ย.59 โดยผู้ได้รับคัดเลือกจะต้อง COD ภายในวันที่ 31 ธ.ค.62

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือปัจจุบันที่ราว 110 MW นั้น ยังไม่ได้นับรวมโรงไฟฟ้าขยะของ SP จำนวนราว 10 MW และโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี ระยะที่ 2 อีก 23 MW แต่โรงไฟฟ้าทั้ง 2 มีแนวโน้มที่จะได้รับ PPA ทำให้คาดว่ากำลังการผลิตในมือ และ COD จะเพิ่มขึ้นเป็นราว 140 MW ภายในปี 62

ปัจจุบัน บริษัทมีเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ราว 1.1 พันล้านบาทนั้น เพียงพอที่จะรองรับการลงทุนใหม่ได้ถึง 150 MW โดยไม่ต้องเพิ่มทุน เพราะเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้โครงการ (project finance) ราว 70% ส่วนที่เหลือเป็นส่วนทุนอีก 30% ซึ่งการลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประมูลได้ใหม่ 3 โครงการ มีมูลค่าโครงการราว 1.8 พันล้านบาท คาดจะสร้างอัตรากำไรสุทธิราว 25-30% ต่อปี ต่ำกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับอัตรากำไรสุทธิของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีอยู่แล้วที่อยู่ระดับ 45-50% ต่อปี ส่วนโรงไฟฟ้าขยะชุมชน คาดว่าจะทำอัตรากำไรสุทธิได้ราว 30-35% ต่อปี

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าต่างประเทศนั้น มีความเป็นได้สูงสำหรับการลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนในลาว โดยในเดือน ก.ย.นี้ บริษัทจะลงนามบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับลาว เพื่อเข้าศึกษาการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ Sebanhieng กำลังการผลิตราว 80 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการลงทุนเอง 100% แต่การลงทุนโครงการนี้ต้องใช้เวลาศึกษาทำ EIA ก่อนจะยื่นขอ PPA ซึ่งคาดว่ากว่าจะได้ก่อสร้างใช้เวลา 4-5 ปี

ขณะภายในสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปดีลร่วมลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำเขื่อนขนาดเล็ก 2 โครงการในลาว ขนาดโครงการละ 10 MW ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนถือหุ้นมากกว่า 50% ซึ่งทั้งสองโครงการมี PPA แล้ว และจะต้องขายไฟฟ้าในปี 60 โดยโครงการในลาวจะขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าลาว (EDL) ทั้งหมด ส่วนการลงนาม MOU เพื่อศึกษาโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 90 MW ในกัมพูชานั้น ยังไม่คืบหน้า และยังมองโอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องผลิตแล้วในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติมด้วย โดยปัจจุบันกำลังพิจารณาอยู่ 2-3 แห่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น