xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เหตุการณ์ป่วนใต้ ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ ศก.ไทยครึ่งปีหลัง คาดเงินทุนยังไหลเข้าต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาพัฒน์ ชี้เหตุการณ์ป่วนใต้ ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ ศก.ไทยครึ่งปีหลัง คาดเม็ดเงินยังไหลเข้าต่อเนื่อง ส่งผลให้ทิศทางเงินบาทยังแข็งค่า แนะดูแลให้มีเสถียรภาพ พร้อมมั่นใจจีดีพีในปี 59 จะดีกว่าปี 58 แน่นอน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เชื่อว่าเหตุรุนแรงในภาคใต้นั้น รัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคงยังดูแลสถานการณ์เอาไว้ได้ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบยืดเยื้อ และไม่เป็นความเสี่ยงต่อเศษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง

ส่วนเรื่องร่างรัฐธรรมนูญผ่านการลงประชามติ มองว่าจะเป็นผลบวกต่อ Sentiment ของตลาดหุ้น ส่วนที่จะมีผลในภาพรวมต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ได้มากน้อยแค่ไหน ทางสภาพัฒน์ ประเมินว่า มีโอกาสที่ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะโตได้ใกล้เคียงกับในครึ่งปีแรก หรืออาจจะสูงกว่าได้มาก และมองว่าทั้งปีมีความเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.3-3.5%

นายปรเมธี กล่าวต่อว่า หากไม่มีอะไรผันผวน หรือรุนแรงจะทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังโตได้มากกว่าครึ่งแรก และเชื่อว่าทั้งปี 59 จะเติบโตได้ดีกว่าปี 58 แน่นอน รวมทั้งเชื่อว่าเศรษฐกิจในระดับ 3.3-3.5% นี้ น่าจะเป็นตัวที่ทำให้นักลงทุนมองเห็นโอกาสในการลงทุน และตัวเลขศกงของไทยน่าจะเป็นที่น่าสนใจในสายตานักลงทุนมากขึ้น

ส่วนค่าเงินบาทที่สภาพัฒน์ ได้ปรับแนวโน้มคาดการณ์ให้แข็งค่าขึ้นมาที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 35.50-36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นั้น เนื่องจากมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังมีเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ทั้งในภูมิภาค และในไทย จากผลของ Brexit ซึ่งจะมีผลทำให้เงินบาทแข็งค่า

ดังนั้น จึงมองว่าการดูแลค่าเงินบาทในช่วงปีหลังให้มีทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ และการส่งออกโดยรวมของประเทศไทย

“ก็คงต้องดูว่าเงินบาทจะแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอย่างไร เพราะจะเป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่เชื่อว่าเราน่าจะรักษาขีดความสามารถของค่าเงินได้ การดูแลเงินบาทให้มีทิศทางเดียวกับภูมิภาคเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้ของผู้ประกอบการ และภาคการส่งออก” เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น