xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” คาดจัดตั้งไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เสร็จในเดือนนี้ เปิดขายหน่วยได้ไม่เกิน พ.ย.59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” คาดจัดตั้งไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เสร็จในเดือนนี้ เปิดขายหน่วยลงทุนได้อย่างช้าสุดไม่เกิน พ.ย.59 ขณะที่ ครม.ไฟเขียวตั้ง 4 ทุนหมุนเวียนใหม่ ชูกองทุนเพื่อการสนับสนุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ พร้อมเดินเครื่องกองทุนบำนาญ บังคับออมเงิน

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เร่งการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนหน้านี้ โดยในส่วนของการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนฯ กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเริ่มต้นที่ 1 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินการภายในเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งกระทรวงการคลังดำเนินการผ่านกองทุนวายุภักษ์ที่จะเป็นผู้ลงเงินเริ่มต้นดังกล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ได้สรุปการแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโอนรายได้ถนนมอเตอร์เวย์สาย 7 และสาย 9 เพื่อโอนรายได้ส่วนหนึ่งมาให้กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งกรมทางหลวงจะได้เงินจากกองทุนฯ เพื่อไปลงทุนในโครงการใหม่ ทำให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้นต่อไป

สำหรับการระดมทุนอีก 9 หมื่นล้านบาท เดิมคาดว่าจะขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนได้ในเดือน ธ.ค.2559 ซึ่งคาดว่าช้าเกินไป กระทรวงการคลังจึงได้เร่งเพื่อให้สามารถขายได้ต้นเดือน ต.ค.นี้ หรืออย่างช้าเดือน พ.ย.2559 เพราะต้องการเร่งการลงทุนภาคผ่านการระดมทุนใหม่ที่ไม่ทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (9 ส.ค.) ได้เห็นชอบจัดตั้งทุนหมุนเวียนใหม่จำนวน 4 ทุน ประกอบด้วย 1.กองทุนเพื่อการสนับสนุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยในลักษณะกองทุนหมุนเวียน ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง เพื่อคุ้มครองการจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหลักทรัพย์ ที่จะได้รับความคุ้มครองของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) และลดการพึ่งพางบประมาณ ซึ่งเป็นภาระการคลังของประเทศ และอยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลังที่ดีในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ลดภาระการคลังของภาครัฐ ในการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ โดยมีการรับประกันผลตอบแทน 2-3%

2.กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนอุดหนุน เพื่อพัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์บริการใหม่ สำหรับกองทุนที่ 3 เป็นกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้มีการจัดตั้งอยู่แล้ว แต่ได้ปรับปรุงกองทุนให้อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ จากเดิมเป็นกระทรวงการคลัง

และสุดท้ายกองทุนที่ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะอยู่ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กบช.ที่กระทรวงการคลังเตรียมนำเสนอ ครม.อนุมัติภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยหลักการสำคัญจะเป็นช่องทางออมเงินเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมประชาชนวัยแรงงานทุกกลุ่ม ที่แรงงานส่วนใหญ่รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จึงได้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ สำหรับแรงงานอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ครอบคลุมลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานภาครัฐ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งสิ้น 11.37 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น