xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นไทยเด่นสุดในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย 6 เดือนแรกปี 59 ประสบความสำเร็จผลักดันตลาดทุนไทยโดดเด่นที่สุดในอาเซียน ด้วยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยสร้างผลตอบแทนสูงสุดในภูมิภาค ขณะสภาพคล่องซื้อขายต่อวันครองอันดับหนึ่งเป็นปีที่ห้า แม้ตลาดทุนทั่วโลกผันผวน ยังสามารถดึงเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาซื้อสุทธิมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในอาเซียน ขณะครึ่งหลังปี 2559 คาดบริษัทจดทะเบียนใหม่จะเพิ่มขึ้นคึกคัก เตรียมเปิดตัวดัชนี sSET Index สะท้อนหุ้นขนาดกลางและเล็ก พร้อมเพิ่มสินค้าใหม่ TFEX Gold-D ซื้อขายทองคำล่วงหน้า

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 2559 ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถรักษาความแข็งแกร่งครองความโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียนใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ (1) ดัชนี SET Index ปรับเพิ่มอยู่ที่ 1,444.99 จุด ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาค โดยปรับบวก 12.2% หรือ 15.2% (ในสกุลเงินสหรัฐ) (2) ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 35,978 ล้านบาท (หรือ 1,038 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงสุดในอาเซียน พลิกจากการขายสุทธิในปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มที่จะซื้ออย่างต่อเนื่อง และ (3) มีสภาพคล่องมากที่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,669 ล้านบาท (หรือ 1,310 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงสุดตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากสิ้นปี 2558 เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จาก GDP ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 3.2% เทียบกับปี 2558 ที่ 2.8%

ด้านบริษัทจดทะเบียนใหม่ (IPO) และการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามเป้าหมายรวมในปีนี้ที่ 525,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นถึง 152,228 ล้านบาท ขณะที่ IPO มีการยื่นไฟลิ่งอย่างต่อเนื่อง และจะเริ่มมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ยังได้ริเริ่มการสร้างฐานข้อมูลกลางของบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ (Startup) ผ่านเว็บไซต์ Startup (http://new.set.or.th) เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังเป็นช่องทางในการติดตามกิจกรรม อัปเดตข่าวสาร แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สำหรับในครึ่งหลังปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดตัวดัชนี sSET Index ที่ครอบคลุมหุ้นขนาดกลางและเล็ก เพิ่มเติมจากดัชนีราคา SET 50 และ SET100 ที่มีอยู่เดิม โดย sSET Index เป็นดัชนีราคาหุ้นที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหุ้นสามัญที่มีขนาดเล็กกว่าหุ้นใน SET100 Index โดยจะเริ่มคำนวณ และเผยแพร่ดัชนีอย่างเป็นทางการในต้นปี 2560

และในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา MSCI Thailand Standard Index ประกาศเพิ่มอีก 3 บริษัทจดทะเบียนไทย รวมเป็น 32 บริษัท เป็นการเพิ่มสุทธิสูงสุดในเอเชีย ขณะที่ FTSE4Good ASEAN 5 Index ซึ่งพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) ได้มีบริษัทไทยจำนวน 30 แห่ง จาก 78 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกทั้งภูมิภาค โดยไทยได้เป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ยังคงดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีบริษัทจดทะเบียนเข้ามารับการประเมินจำนวน 87 บริษัท โดยจะประกาศรายชื่อในไตรมาส 4 นี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพ และดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน

สำหรับปริมาณการซื้อขายสินค้าเฉลี่ยต่อวันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 232,798 สัญญา เติบโตจากสิ้นปีก่อนหน้าถึง 16.5% และได้เริ่มจัดให้ซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (RSS3 Futures) เมื่อต้นปี และต่อยอดไปเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 เพื่อการส่งมอบสินค้า (RSS3D Futures) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ได้เพิ่มผู้ดูแลสภาพคล่องใน Single Stock Futures อีก 3 ราย รวมถึงยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับ Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงพัฒนาความร่วมมือด้านธุรกิจ และในครึ่งปีหลังจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่ใน TFEX ได้แก่ TFEX Gold-D ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าประเภทต้องส่งมอบทองคำ

ด้านฐานผู้ลงทุนในประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการลงทุนหุ้น และอนุพันธ์ #investnow มีการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ทั้งที่พัฒนาโดย บล. หรือผู้พัฒนารายอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ (FinTech) เพื่อช่วยผู้ลงทุนในการตัดสินใจ หรือเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน ทั้งในหุ้น และกองทุนรวม อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ยังร่วมกับพันธมิตรทั้ง บล. และ ธนาคารพาณิชย์ จัดกิจกรรมให้ความรู้ และขยายฐานผู้ลงทุนหุ้นอนุพันธ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค 64 ครั้ง ทำให้สามารถเพิ่มผู้ลงทุนในหุ้น 42,587 ราย และอนุพันธ์ 5,419 ราย มีผลให้ผู้ลงทุนบุคคลเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย สำหรับการบ่มเพาะความรู้ทางการเงิน และการลงทุน ได้ดำเนินการผ่านโครงการเงินทองต้องวางแผน และห้องเรียนนักลงทุนกว่า 18,000 คน และให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.83 ล้าน view และพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน INVESTORY ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี โดยมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่มาศึกษาความรู้ทางการเงินในรูปแบบมัลติมีเดีย แล้วกว่า 22,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ตั้งแต่บุคลากรในบริษัทจดทะเบียน ผู้สนใจประกอบธุรกิจ Startup และบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ ผ่านสัมมนาหลักสูตรเข้มข้นกว่า 1,800 คน

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งมั่นสร้างฐานผู้ลงทุนสถาบันในประเทศให้แข็งแกร่ง โดยพัฒนาระบบงานกลางสำหรับกองทุนรวม (Fund Service Platform) ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกองทุนรวมให้กับผู้ลงทุน นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังส่งเสริมการขยายฐานการลงทุนผ่านผู้ลงทุนสถาบัน ทั้งกองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยการมีแผนทางเลือกการลงทุนแบบ employee's choice เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว ในการพัฒนาระบบงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อมุ่งรักษาประสิทธิภาพการให้บริการ และความเป็นมาตรฐานสากล โดยสำนักหักบัญชี (TCH) ได้ปรับปรุงงานบริหารความเสี่ยงสำหรับหลักทรัพย์ สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานสากล Principles for Financial Market Infrastructures (PFMI)
ขณะที่ระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศยังได้รับใบรับรองมาตรฐานสากล ISO/IEC 27001:2013 สำหรับการบริหารจัดการความปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ISO/IEC 20000 เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการบริการของไอที และยังเป็นไปตามมาตรฐาน IOSCO เพิ่มความมั่นใจต่อผู้ลงทุน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับบริษัทจดทะเบียนให้มีความสะดวกรวดเร็ว ได้มีการปรับปรุงระบบงานเกี่ยวข้องกับระบบ Digital IPO และบริการ e-Tax และในครึ่งหลังปีนี้ TSD Counter Service จะพัฒนาให้เป็น Digital Counter ในการดำเนินการรับฝาก ถอน โอนใบหุ้น เพื่อให้การบริการผู้ลงทุนเป็นไปอย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น

ด้านการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งมั่นพัฒนาให้เป็นต้นแบบเพื่อการเติบโตภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เห็นได้จากอาคารสำนักงานแห่งใหม่ ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environment Design) จากสถาบันอาคารเขียวแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ในระดับ Gold โดยในครึ่งหลังปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมปรับกระบวนการทำงานภายในให้เป็นไปตามหลักการของ Green Policy ได้แก่ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารอาคาร เป็นต้น สำหรับงานด้านการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน (Social Development) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดให้มีเว็บไซต์ www.setsocialimpact.com เพื่อให้เป็นแหล่งกลางการเชื่อมโยงเพื่อการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และความร่วมมือ ของภาคธุรกิจ และสังคม โดยสร้างเว็บไซต์ SET Social Impact เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีทางสังคม

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับความเป็นสากล โดยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมตลาดทุนภูมิภาค (Asian and Oceanian Stock Exchange Federation : AOSEF) ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะเป็นครั้งแรกที่ร่วมกับ IR Magazine Award ในการจัดงานประกาศรางวัลนักลงทุนสัมพันธ์ดีเด่นในระดับอาเซียนในเดือนธันวาคมนี้ และจะเป็นเจ้าภาพงาน ANNA (Association of National Numbering Agencies) General Meeting 2016 ซึ่งเป็นงานประชุมระดับโลกเกี่ยวกับงานศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ รวมถึงยังเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีของสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก (World Federation of Exchanges : WFE) ในปี 2560


กำลังโหลดความคิดเห็น