SCB EIC มอง ศก.ไทยไม่ได้รับผลกระทบ Brexit มากนัก แต่ความเสี่ยง Brexit จะเป็นตัวแปรต่อการฟื้น ศก.โลก และการส่งออกไทย และมองการไหลเข้าของเงินทุนมายังเอเชียจะยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าการปรับขึ้นอัตรา ดบ.ของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และยังมีปัจจัยส่งเสริมจากการที่ BOE และ BOJ ส่งสัญญาณว่าจะลดอัตรา ดบ.ในเร็วๆ นี้
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ตามที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook Update) ในเดือนกรกฎาคม 2016 ซึ่งมีการปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2016 และ 2017 ลงเป็น 3.1% และ 3.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ระดับ 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ โดยเป็นการปรับลดประมาณการจากผลกระทบของ Brexit ที่ทำให้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเมืองสูงขึ้นนั้น
IMF มองว่า ผลกระทบของ Brexit มีอยู่มากพอควรใน UK โดยเฉพาะปี 2017 ที่ IMF ได้ปรับลดประมาณการลงเหลือ 1.3% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 2.2% ส่วนยูโรโซนได้ปรับลดประมาณการในปี 2017 เป็น 1.4% จากเดิม 1.6% แม้ว่า UK จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว แต่ Brexit จะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มความกังวล และความเสี่ยงให้กับนักลงทุน และผู้บริโภคต่อเนื่องไปในอนาคต
ตัวเลขการคาดการณ์ของ IMF นี้เป็นเพียงการประมาณการจากสถานการณ์ขั้นพื้นฐานที่มองว่า การเจรจาต่างๆ จะเป็นไปได้ด้วยดี นอกเหนือไปจากนี้ IMF ยังมองว่า หากสถานการณ์แย่ลงมากกว่าที่คาดอาจจะทำให้เศรษฐกิจ UK หดตัวอย่างรุนแรง และส่งผลต่อเนื่องไปยัง EU รวมถึงตลาดการเงินทั่วโลก
โดยรวมแล้วปัญหาต่อเนื่องในภาคธนาคารที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และความเสี่ยงจาก Brexit จะยังคงเป็นภัยคุกคามต่อภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปต่อไป
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ประมาณการขั้นพื้นฐาน IMF เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะได้รับผลกระทบในวงแคบ โดยภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากกว่า แต่ทั้งสองประเทศยังคงต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของ Brexit ที่ยังคงมีอยู่ และแม้ว่า Brexit จะส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะยังคงเติบโตได้ดี IMF จึงไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนประมาณการเศรษฐกิจมากนัก โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจอินเดียในปีนี้ลดลงจาก 7.5% เป็น 7.4% จากการชะลอตัวของการฟื้นตัวในภาคการลงทุน
ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 4.8% ส่วนเศรษฐกิจจีนในปีนี้มีการปรับขึ้นเล็กน้อยจาก 6.5% เป็น 6.6% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ และการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ ผลกระทบโดยตรงจาก Brexit มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากความเกี่ยวเนื่องทางการค้าและการเงินต่อ UK มีอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมถึงความพร้อมของภาครัฐที่จะเข้าช่วยเหลือเศรษฐกิจให้อยู่ในเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม หากกลุ่ม EU ได้รับผลกระทบจาก Brexit อย่างมีนัยสำคัญก็จะทำให้เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน
SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจาก Brexit เนื่องจากความเกี่ยวเนื่องทางการค้าการลงทุนระหว่างไทย และ UK ที่มีจำกัด ทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระดับหนึ่งจากการลงทุนจากภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี
ทั้งนี้ ความกังวลที่มาจากความไม่แน่นอน และความเสี่ยงจาก Brexit จะยังคงเป็นตัวแปรสำคัญต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
SCB EIC คาดว่า แนวโน้มการไหลเข้าของเงินทุนมายังเอเชียจะยังคงมีอยู่ต่อไปจนกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่ยังสูง และโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ อาทิ อาเซียน และอินเดีย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เป็นสองปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยส่งเสริมจากการที่ธนาคารกลางของอังกฤษ (BOE) และญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยเร็วๆ นี้อีกด้วย