คาดการณ์ตลาดอสังหาฯ ครึ่งปีหลังชะลอต่อเนื่อง บิ๊กอสังหาฯขยายตลาดทุกเซกเมนต์หวังยอดเติบโต แนะรายกลาง-รายย่อยมุ่งตลาดบลูโอเชียน อย่าท้าชนรายใหญ่ พร้อมปรับตัวหาจุดแข็ง เพิ่มบริการพิเศษมัดใจลูกค้า
แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2559 หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า จะชะลอตัวต่อเนื่องจากช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ หรืออาจติดลบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงเศรษฐกิจโลก ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่แม้ว่าในปัจจุบันจะปรับลดลงมาแล้ว แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ทำให้กำลังซื้อลดลง
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลาง-ล่างได้รับความนิยมมาก ผู้ประกอบการต่างแห่ไปลงทุนเปิดจำนวนมาก แต่เนื่องจากกลุ่มลูกค้าหลักเป็นระดับกลาง-ล่าง จึงมีปัญหาการปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร ต้องนำสินค้ากลับมาขายใหม่ ทำให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการหันไปจับตลาดบน ตลาดไฮเอนด์ ตลาดลักชัวรีที่ลูกค้าไม่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการต่างพัฒนาออกมาจำนวนมากในขณะที่กลุ่มลูกค้ามีจำนวนน้อย ทำให้ช่วงหลังตลาดเริ่มอิ่มตัว ยอดขายเริ่มชะลอ
จากภาวะที่ตลาดล่างประสบปัญหาคุณสมบัติผู้ซื้อ การปฏิเสธสินเชื่อ ในขณะที่ตลาดไฮเอนด์กลุ่มลูกค้ามีจำนวนจำกัด การพัฒนาคอนโดมิเนียมแม้จะมีกำไรสูง แต่ก่อสร้างนาน ใช้เวลา 1-3 ปี ทำให้การหมุนรอบของเงินใช้เวลานาน ขณะที่บ้านแนวราบแม้กำไรจะน้อยกว่า แต่การก่อสร้างเร็วโอนเร็ว การหมุนรอบของเงินเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ที่มีเงินลงทุน และมีศักยภาพในการพัฒนาเริ่มขยายตลาดไปในทุกเซกเมนต์ ทั้งแนวราบ แนวสูง ทุกระดับราคา อสังหาฯ เพื่อขาย และให้เช่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการลงทุน และการชะลอตัวของตลาดบางเซกเมนต์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีข้อได้เปรียบในด้านการระดมทุน หรือขอสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และกรรมการผู้อำนวยการบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ผู้ประกอบการต้องการการเติบโตที่เร็ว ผู้ประกอบการจะปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นต่อโครงสร้างธุรกิจให้สามารถลงทุนได้หลากหลาย สร้างการเติบโตได้เร็ว สามารถขยายตลาดไปในทุกสินค้า ทุกระดับราคา ผู้ประกอบการต้องมีพอร์ตรายได้สั้น ยาว เพื่อให้โครงสร้างธุรกิจยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของธุรกิจได้
ที่ผ่านมา พฤกษา ถือเป็นเจ้าตลาดระดับกลาง-ล่าง แต่หลังจากนี้ พฤกษามีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังตลาดระดับบนมากขึ้น โดยตั้งกลุ่มธุรกิจพรีเมียม เพื่อรุกตลาดระดับบน ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม
ด้าน นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาฯ มีความหลากหลายไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ซึ่งผู้ประกอบจะต้องปรับตัวให้ทัน เน้นการลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลของตลาด และการขยายตัวของบริษัท ซึ่ง แอล.พี.เอ็น.มีแผนพัฒนาโครงการคอนโดฯ ในทำเลกลางเมือง พัฒนาสินค้าระดับบนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะตลาดคอนโดฯ กลาง-ล่าง ในทำเลรอบลนอกเมือง ซึ่งที่ผ่านมา ประสบปัญหาลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร บางโครงการสูงถึง 50%
แนะรายผู้ประกอบการกลาง-ย่อย ปรับตัวสู้บิ๊กอสังหาฯ
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจคอนโดฯ จะต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นตลาด คือ 1.มีบิสซิเนสโมเดลที่ชัดเจน 2.โฟกัสในสถานการณ์ของแต่ละทำเลจับรอบขึ้นลงของทำเลให้ได้ 3.การเป็นรายแรกที่ต้นทุนที่ดินต่ำ แข่งขันต่ำ และเน้นดีมานด์ใหม่ๆ 4.เอาชนะตลาดด้วยการสร้างความแตกต่าง 5.เข้าใจดีมานด์อย่างชัดเจน ทุกทำเลมีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม สามารถพัฒนาโครงการที่หลากหลายรูปแบบ เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม 6.พัฒนาสินค้า และการบริการให้ครอบคลุมทุกความต้องการด้านการอยู่อาศัย และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน 7.พัฒนาบริการก่อน และหลังการขาย สามารถรองรับ และแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้ ซึ่งการบริการจะแข่งกันมากใน 5 ปีข้างหน้า 8.หลังจากบริการจะเป็นเรื่องของไอทีเฮาส์แคร์ 9.สร้างนวัตกรรมใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง 10.พัฒนาองค์กรไปพร้อมกับพันธมิตร
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) กล่าวแนะนำว่า ผู้ประกอบการรายกลาง-รายย่อย ควรปรับตัวให้เร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาด การลงทุนทุกครั้งจะต้องมั่นใจว่า โครงการที่พัฒนาทั้งในด้านทำเล สินค้า และราคานั้น จะต้องตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย เน้นทำตลาดบลูโอเชียนเท่านั้น จะต้องไม่แข่งกับรายใหญ่ เพราะทั้งในด้านเงินทุน แบรนด์ รายเล็กไม่สามารถสู้ได้ ต้องพยายามลดต้นทุนทั้งในแง่ของต้นทุนบริหาร การก่อสร้าง นอกจากนี้ จะต้องให้บริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง อาทิ บริการซัก-รีด รถรับส่ง และทำความสะอาด เป็นต้น ต้องพยายามลดต้นทุน อาทิ การซื้อวัสดุ การก่อสร้าง
นายองคฤทธิ์ พรหมโยธี กรรมการบริหาร บริษัท ณวรางค์ แอสเซท จำกัด กล่าวว่า การเป็นรายเล็กฐานลูกค้า และความแข็งแกร่งไม่เทียบเท่ารายใหญ่ จึงใช้วิธียอมขาดทุนกำไรด้วยการจ้างที่ปรึกษาทางการตลาดมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงานขาย แม้ว่าจะเป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ประสบความสำเร็จด้วยดี