xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความเชื่อมั่น นลท.เดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 11.75% ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองอาจกลับมาสร้างความกังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภาธุรกิจตลาดทุนฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่น นลท.เดือน ก.ค.อยู่ที่ระดับ 104.46 เพิ่มขึ้น 11.75% ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองก่อนลงประชามติร่าง รธน.กลับมาสร้างความกังวลให้ นลท. ขณะที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ คาดดัชนีหุ้นไทยปลายปีนี้อยู่ที่ระดับ 1,500 จุด

นายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 104.46 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75 จากดัชนีเดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 93.48 ดัชนียังอยู่ในกรอบทรงตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยมีปัจจัยด้านความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศเป็นตัวพยุงความเชื่อมั่นของนักลงทุน

แต่สถานการณ์การเมืองที่ใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 สิงหาคม 2559 กลับมากดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย และกลุ่มสถาบันในประเทศ ขณะที่ความผันผวนของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนยังเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพราะส่งผลกระทบให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จาก 77.78 ในเดือนก่อน เป็น 100 สอดคล้องกับตลาดหุ้นไทยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ได้รับผลดีจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยกว่า 253,000 ล้านบาท หลังจากกองทุนขนาดใหญ่ลดน้ำหนักการลงทุนในยุโรป และกระจายมาลงทุนในเอเชีย

นายคเณศ กล่าวด้วยว่า จากผลสำรวจพบว่ากลุ่มที่น่าสนใจลงทุน คือ กลุ่มบริการรับเหมาก่อสร้าง ส่วนหมวดแฟชันเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าลงทุนมากที่สุด

ด้าน นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีมีแนวโน้มแกว่งตัวขาขึ้น หลังจากครึ่งปีแรกดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นกว่าร้อยละ 12 โดยมีเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปลายปีนี้ 1,500 จุด ทั้งนี้ ปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย คือ แนวโน้มธนาคารกลางสหรัฐชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นในภูมิภาค

นอกจากนี้ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังมีการพัฒนาที่ดีขึ้นจากรายได้เกษตรกรที่กลับมาเป็นบวก เนื่องจากภัยแล้งคลี่คลาย ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น และดัชนีภาคบริการหลายตัวแสดงถึงการผ่านจุดต่ำสุดของการบริโภค และรัฐบาลเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทย แต่ยังต้องจับตาปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ภาคธนาคารที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น