นักวิชาการ ม.รังสิต คาดหากอังกฤษออกจากอียูจะส่งผลต่อ ศก.ไทย-ศก.โลก ทั้งตลาดเงิน ตลาดหุ้น ในช่วงไตรมาส 4 ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะหันมาถือพันธบัตรเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เงินเยน เงินสวิสฟรังก์ และทองคำ เตือนผลกระทบต่อตลาดการเงินจะชัดเจน และรุนแรงกว่าภาคเศรษฐกิจจริง และภาคการค้า ชี้โอกาสที่อังกฤษออกจากอียูมีความเป็นไปได้ต่ำ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะการออกจากอียูจะเป็นผลจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลกระทบ Brexit (อังกฤษออกจากอียู) หากผลการลงประชามติให้อังกฤษออกจากอียูว่า จะมีผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทย และโลกอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งตลาดการเงิน ภาคเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจจริง แต่ขณะเดียวกัน ย่อมเกิดโอกาสเพิ่มขึ้นหากรัฐบาลสามารถวางยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสม และริเริ่มเปิดการเจรจาการค้า และการลงทุนกับอังกฤษเป็นประเทศแรกๆ ข้อตกลงการค้าหลายอย่างของอียูจะไม่ถูกบังคับกับอังกฤษ
หากผลประชามติให้อังกฤษออกจากอียู จะทำให้ตลาดการเงินผันผวนค่อนข้างมากในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะเงินยูโร และเงินปอนด์น่าจะอ่อนค่าลงอย่างมาก เงินดอลลาร์ เงินสกุลเอเชีย เงินเยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโร และเงินปอนด์ ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่ออังกฤษจะชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ และอาจจะเจอต่อภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้า มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกรุนแรง โดยเฉพาะตลาดหุ้นอังกฤษอาจปรับตัวลงได้มากกว่า 10% ตลาดหุ้นยุโรป อาจปรับลงได้ 5-10% นักลงทุนส่วนใหญ่จะหันมาถือพันธบัตร เงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา เงินเยน เงินสวิสฟรังก์ และทองคำแทน ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้ 20-30% ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย
กรณีอังกฤษออกจากอียู ผลกระทบต่อตลาดการเงินจะชัดเจน และรุนแรงกว่าภาคเศรษฐกิจจริง และภาคการค้า เพราะหลังจากการลงมติออกจากอียูแล้ว ต้องใช้เวลาหากกรณีลงประชามติแล้วยังคงอยู่กับอียูต่อไป ตลาดการเงินจะดีดกลับทันที เงินยูโร เงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้น และราคาทองคำอาจชะลอตัวลง ส่วนการอยู่กับอียูต่อไปจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของอังกฤษ และอียูมากกว่า การที่สมาชิกพรรคแรงงาน Jo Cox แกนนำผู้สนับสนุนการอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไปถูกยิงเสียชีวิตจากกลุ่มหัวรุนแรงขวาจัด อาจทำให้ฝ่ายสนับสนุนในการอยู่เป็นสมาชิกอียูต่อไปได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้น และได้รับความเห็นใจ ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายมีเสียงก้ำกึ่งกันอยู่
การเกิดความรุนแรงทางการเมืองในการลงประชามติเรื่อง Brexit ในอังกฤษเป็นบทเรียนต่อไทยว่า การลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญควรเปิดให้มีความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง อย่าปิดกั้น แต่ต้องควบคุมไม่ให้มีการปลุกกระแสที่สร้างความเกลียดชังกัน มีการเสนอความคิดเห็นแบบสร้างสรรค์ ใช้เหตุผลในการหักล้างกัน หากเกิดความรุนแรงขึ้นในกรณีของไทยย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นในการลงทุน
กรณีอังกฤษออกจากอียู ข้อตกลงการค้าหลายอย่างของอียูจะไม่ถูกบังคับกับอังกฤษ เป็นโอกาสที่ไทยอาจเริ่มต้นเจรจากรอบการค้า และการลงทุนใหม่กับอังกฤษ แม้ไทยส่งออกไปอังกฤษประมาณ 2% แต่ส่งออกไปอียูคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-11% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอังกฤษ และอียูจะชะลอตัวลงกว่าเดิม ประเมินมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน และทำให้เสถียรภาพของระบบอียูมีปัญหา หลายประเทศอาจเกิดการเรียกร้องให้ออกจากอียู แม้ประเทศไทยส่งออกไปประเทศอังกฤษเพียงแค่ 2% แต่มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการส่งออกต่อเนื่องไปยังอียูมาก โดยสินค้าส่งออกหลัก คือ ไก่แปรรูป อาหารประเภทต่างๆ อัญมณีเครื่องประดับ เสื้อผ้า เครื่องหนังรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น การที่อังกฤษอยู่ภายใต้ระบบของอียู ย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวของการค้า และการลงทุนต่อไทยมากกว่า
หากผลลงประชามติในวันที่ 23 มิ.ย.ออกมาให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป จะเป็นผลบวกต่อตลาดการเงิน ส่วนผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หากผลลงประชามติออกว่าให้อังกฤษออกจากอียู จะส่งผลลบต่อตลาดการเงิน และตลาดการเงินจะมีความผันผวนต่อเนื่อง เนื่องจากจะต้องนำผลประชามติเข้าพิจารณาในรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งเกิดความไม่แน่นอนขึ้นอีก ส่วนผลกระทบต่อภาคการค้า และภาคเศรษฐกิจจริงนั้นมีผลกระทบสุทธิเป็นลบแน่นอน
“เมื่อประมวลจากข้อมูลทั้งหมดแล้ว โอกาสที่อังกฤษออกจากอียูมีความเป็นไปได้ต่ำ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะการออกจากอียูจะเป็นผลจากเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์ กล่าว