คลัง อ้อนเอดีบีขอกู้เงิน 1.7 หมื่นล้าน ลงทุนรถไฟ-ถนน พร้อมขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาระบบอีเพย์เมนต์ ขณะที่ สบน.เผยหนี้สาธารณะทะลุ 6 ล้านล้าน แต่สัดส่วนแค่ 44% ของจีดีพี ขณะที่สถาบันจัดอันดับเครดิตอาร์แอนด์ไอแนะรัฐบาลไทยเร่งปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ
นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ในระหว่างการไปร่วมประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 49 ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะกู้เงินจาก ADB วงเงินประมาณ 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1-1.7 หมื่นล้านบาท สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เช่น โครงการรถไฟ และถนน เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอรับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก ADB ในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) ความร่วมมือลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน (PPP) โดยภาครัฐต้องการให้เอกชนมีส่วนร่วมดำเนินการโดยเฉพาะในด้านคมนาคมขนส่ง
นายสุวิชญ กล่าวอีกว่า รมว.คลัง ยังได้หารือกับองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JBIC) เกี่ยวกับให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของไทยในรูปแบบ PPP และบทบาทของ JBIC ในการร่วมมือพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นอกจากนี้ ยังหารือกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เกี่ยวกับระยะเวลาดำเนินการ และขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการกู้เงินสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงในระยะต่อไป
นางสุณี เอกสมทราเมษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สบน.เปิดเผยว่า โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าในหลายเส้นทางนั้น รัฐบาลพยายามผลักดันให้เป็นการลงทุนแบบ PPP แต่ก็มีหลายส่วนที่ต้องใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งต้องมีการพิจารณาเป็นรายโครงการ โดยเบื้องต้น ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง สัญญาที่ 3 นั้นจะใช้วิธีการกู้เงินจาก JICA ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง จะเป็นโครงการลงทุนแบบ PPP ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะใช้วิธีการกู้เงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาถึงความเหมาะสมในการกู้เงินจากทั้งใน และต่างประเทศ เพราะมีองค์กรการเงินต่างประเทศหลายแห่งยื่นข้อเสนอเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งหากดูแล้วต้นทุนทางการเงินไม่แตกต่างจากในประเทศก็อาจพิจารณากู้ในส่วนนี้ประกอบด้วย
สำหรับภาพรวมหนี้สาธารณะของไทย ล่าสุด 31 มี.ค.2559 มีหนี้ 6.01 ล้านล้านบาท หรือ 44.03% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นสุทธิจากเดือนก่อนหน้า 7.86 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 4.42 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.63 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการกู้เงินเพื่อลงทุนจากแหล่งเงินใน และต่างประเทศ 5.75 พันล้านบาท การกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ 2 หมื่นล้านบาท และการชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยจากที่รัฐบาลกู้โดยตรง 9.56 พันล้านบาท ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านบาท ลดลง 4.57 พันล้านบาท และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) อยู่ที่ 5.25 แสนล้านบาท ลดลง 2.99 พันล้านบาท
รายงานข่าวจาก สบน.แจ้งว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่น เรตติ้ง แอนด์ อินเวสเมนท์ อินฟอร์เมชั่น (อาร์แอนด์ไอ) ประกาศคงสถานะแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็นลบ เนื่องจากยังติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ว่า มีเสถียรภาพ ต่อเนื่องไปจนถึงการกลับเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือน รวมทั้งผลการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดประมาณปลายปี 2560 สามารถดำเนินการได้หรือไม่
นอกจากนี้ ได้ยืนยันอันดับเครดิตของไทย ทั้งตราสารหนี้รัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศ ที่ระดับบีบีบี บวก และสกุลเงินบาทที่ระดับ เอลบ และคงอันดับความน่าเชื่อถือหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศที่ระดับ เอลบ 2 รวมทั้งคงสถานะแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับเป็นลบ เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับปานกลาง และการดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ทำให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่มีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งกระทรวงการคลัง ประมาณการว่า สัดส่วนระยะปานกลางหนี้สาธารณะจะไม่เกิน 50%
ขณะเดียวกัน อาร์แอนด์ไอ ยังคงติดตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการคลังนั้น แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล สัดส่วนหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ 30% ของจีดีพี และมีทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น แต่ปัจจัยจากต่างประเทศยังฟื้นตัวช้า เศรษฐกิจไทยจึงต้องพึ่งการขยายตัวภายในประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ แม้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลที่ 2.8% ของจีดีพี ในปีงบประมาณ 2559 สะท้อนถึงการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ แต่แหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมาจากการกู้เงินของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่นอกงบประมาณ ทำให้ต้องติดตามฐานะการคลังของภาครัฐอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลยังได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญทั้งการปฏิรูประบบภาษี เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และลดความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ แต่โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังเริ่มได้ล่าช้า เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายว่า รัฐบาลจะดำเนินการได้ตามเป้าหมายหรือไม่ รวมทั้งประเทศไทยยังประสบปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต จึงไม่สามารถพึ่งพาแรงงานในประเทศได้ จึงควรหามาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่นปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น