โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ รายงานผลการดำเนินงานรวมของบริษัทฯ ในไตรมาสแรกของปี 2559 (1 มกราคม-31 มีนาคม 2559) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และร้อยละ 16 จากไตรมาสที่แล้ว แต่โดยรวมยังขาดทุนจากการดำเนินงานปกติสุทธิที่เป็นส่วนของ TTA มากกว่า 224.5 ล้านบาท จากวัฏจักรโดยธรรมชาติของธุรกิจ “เจ้าสัวกึ้ง” เชื่อมั่นงบการเงินแข็ง เงินสด และเงินลงทุนระยะสั้นสภาพคล่องดีที่มีมากกว่า 13.4 พันล้านบาท มั่นใจว่า TTA จะสามารถก้าวผ่านวิกฤตเลวร้ายไปได้
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสที่ 1/2559 ว่า แม้ไตรมาสแรกของทุกปีเป็นช่วงโลว์ซีซันของธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือต้องเผชิญต่อภาวะชะลอตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี และราคาน้ำมันดิบยังลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปีในไตรมาสที่ 1/2559 ก็ตาม แต่ธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองของโทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงทำอัตราเฉลี่ยของค่าระวางเรือได้สูงกว่าตลาด ในขณะที่ธุรกิจให้บริการวิศวกรรมใต้น้ำทะเลของกลุ่มเมอร์เมดก็ได้ทำสัญญาใหม่กับลูกค้า
นอกจากนี้ TTA ยังคงดำเนินมาตรการควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งส่งผลดีทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และบริหาร (SG&A) ลดลงไปได้ถึง 44% อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ธุรกิจขนส่งทางเรือ และอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติอาจจะมีความผันผวนต่อไปอีกตลอดปี 2559
“บริษัทฯ จะคงใช้แนวทางการควบคุมค่าใช้จ่าย การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ อย่างรอบคอบ รวมถึงการรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง ซึ่งเรามั่นใจว่า TTA สามารถที่จะผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าท้ายเช่นนี้ไปได้”
ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาสที่ 1/2559 แยกเป็นรายธุรกิจ
กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง อัตราค่าระวางเรือของโทรีเซน ชิปปิ้ง ยังคงสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของตลาด Supramax (BSI) ที่ปรับฐานแล้ว ร้อยละ 12 โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์อยู่ที่ระดับสูงแม้ภายใต้ภาวะตลาดที่ชะลอตัว และดัชนี BDI ลดลงไปที่จุดต่ำสุดในรอบ 30 ปี ส่วนธุรกิจการเช่าเรือยังคงดำเนินการไปได้ดี และสร้างอัตราผลกำไรเป็นบวกให้แก่กลุ่มบริษัท โดยในไตรมาสที่ 1/2559 อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยของโทรีเซน ชิปปิ้ง อยู่ที่ 3,747 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยของตลาด Supramax ที่ปรับฐานแล้วที่ 3,358 เหรียญสหรัฐต่อวัน ถึงร้อยละ 12 แม้ว่าจะลดลงร้อยละ 54 จาก 8,091 เหรียญสหรัฐต่อวัน ในไตรมาสที่ 1/2558 เนื่องจากดัชนีบอลติกได้ปรับตัวลงมาที่จุดต่ำสุดในไตรมาสนี้
นอกจากนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง ได้ขายเรือ M.V.Thor Dynamic ขนาด 43,497 DWT ทำให้ปัจจุบัน โทรีเซน ชิปปิ้ง มีเรือที่เป็นเจ้าของอยู่ 23 ลำ ซึ่งมีขนาดเฉลี่ยเท่ากับ 50,946 DWT และมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 11.75 ปี ซึ่งโดยรวมแล้ว โทรีเซน ชิปปิ้ง ดำเนินการกองเรือเฉลี่ย 30 ลำ (เรือของบริษัท 22.2 ลำ และเรือเช่า 7.9 ลำ) ในไตรมาสที่ 1/2559 โดยสรุป กลุ่มโทรีเซน ชิปปิ้ง รายงานผลขาดทุนสุทธิ 263.9 ล้านบาทในไตรมาสที่ 1/2559 โดยเป็นผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติที่ 259.3 ล้านบาท
ขณะที่ เมอร์เมด มาริไทม์ ในไตรมาสที่ 1/2559 กลุ่มเมอร์เมด มีรายได้รวมเท่ากับ 1,412.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 29 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 1,984.2 โดยรายได้จากเรือวิศกรรมใต้ทะเล และงานบริการสนับสนุนด้านอื่นๆ (ที่ไม่ใช้เรือ) ในไตรมาสที่ 1/2559 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และร้อยละ 18 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเรือวิศวกรรมใต้ทะเลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในไตรมาสที่ 1/2558 เป็นร้อยละ 40 ในไตรมาสที่ 1/2559 ในขณะเดียวกัน กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 109 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 101 จากไตรมาสที่แล้ว แม้ว่ารายได้จากธุรกิจวางสายเคเบิลใต้ทะเลจะลดลงในไตรมาสนี้
แม้ว่าไตรมาสแรกบริษัทฯ จะต้องเผชิญต่อวัฏจักรธุรกิจน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่ชะลอตัว แต่กลุ่มเมอร์เมด ก็ยังได้รับความไว้วางใจจากบริษัทปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ตกลงทำสัญญาใช้บริการสำรวจใต้ทะเลน้ำลึกในอ่าวไทยเป็นเวลา 2 ปี เริ่มตั้งปีเดือนมีนาคม 2559 จนถึงเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งมูลค่าของสัญญาในระยะเริ่มต้นคิดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับธุรกิจเรือขุดเจาะ Jack-up drilling rigs สเปกสูง 3 ลำของ MML Group ภายใต้ Asia offshore Drilling (AOD) มีค่าเฉลี่ยการใช้ประโยชน์ที่ร้อยละ 100 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม เรือขุดเจาะแบบ tender rigs ยังคงจอดอยู่เพื่อรอการขายออกไป โดยสรุป ในไตรมาสที่ 1/2559 กลุ่มเมอร์เมด รายงานผลกำไรสุทธิที่ 44.2 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ที่ 26.3 ล้านบาท
ส่วน บมจ.พีเอ็ม โทรีเซนเอเชีย โฮลดิ้งส์ หรือ PMTA มีปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 95 จากไตรมาสที่ 1/2558 เนื่องจากกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งเน้นขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้น 2,885 ตัน ในขณะที่พื้นที่โรงงานให้เช่า Baconco5-B เฟส 2 (8,200 ตร.ม.) มีลูกค้าเช่าเต็มพื้นที่แล้ว และอุปสงค์จากทั้งลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 1/2559 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 26.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA 17.8 ล้านบาท โดยมียอดขาย และรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการส่งออก ส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่โรงงานทำได้ 10.6 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 95 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจาก 7,760 ตัน เพิ่มขึ้นเป็น 15,100 ตัน ในไตรมาสที่ 1/2559 เนื่องจากกลยุทธ์การขยายการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ที่มีฤดูกาลเพาะปลูกที่ต่างไปจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ในส่วนของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส หรือ UMS ปริมาณการขายถ่านหินของบริษัทฯ ของเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสที่แล้ว และการให้บริการใหม่ๆ ช่วยเพิ่มรายได้ให้อีกทางหนึ่ง ในไตรมาสที่ 1/2559 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 16 ล้านบาท โดยมีปริมาณการขายถ่านหินของ UMS ลดลงร้อยละ 33 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 86,000 ตัน มาอยู่ที่ 58,000 ตันในไตรมาสที่ 1/2559 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสที่แล้วที่ 43,000 ตัน การลดลงของปริมาณการขายถ่านหินจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลมาจากปริมาณการขายถ่านหินคัดขนาดในระหว่างไตรมาสที่ 1/2559 ลดลง เนื่องจากโอกาสในการนำเข้าถ่านหินเพื่อมาขายมีจำกัด แต่ปริมาณการขายถ่านหินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนรายได้อื่นแสดงสัญญาณที่ดีขึ้นโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 197 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 118 จากไตรมาสที่แล้ว หลังจากที่ UMS เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ ในขณะที่แผนการลดต้นทุนที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารลดลงร้อยละ 32 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงร้อยละ 6 จากไตรมาสที่แล้ว