xs
xsm
sm
md
lg

ทริสชี้ ศก.โตต่ำศักยภาพ มาตรการกระตุ้นยังจำเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทริส ระบุเศรษฐกิจปีนี้ยังอ่อนแรง คาดโตได้แค่ 2.7-3% จากปัจจัยเสี่ยง “เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวต่ำ-ภัยแล้ง” และมาตรการกระตุ้นด้านบริโภค การลงทุนภาคเอกชนยังจำเป็น เผยกลุ่มที่รับผลกระทบ ค้าส่ง ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย รถยนต์ เกษตร

น.ส.วัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส เรทติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า สภาวะเศรษฐกิจในปี 2559 นี้น่าจะยังอ่อนตัว โดยคาดว่ามีอัตราการขยายตัวระหว่าง 2.7%-3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากมาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการลงทุนโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรที่จะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร

ขณะที่ปัจจัยลบที่ยังคงอยู่ ได้แก่ การฟื้นตัวที่ต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น รวมถึงมาตรการที่มีลักษณะเป็นการกีดกันทางการค้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยโดยสหรัฐอเมริกา และยุโรป มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง หรือสภาพภูมิอากาศที่อาจกระทบต่อผลผลิตในประเทศ

สำหรับดัชนีบ่งชี้เศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 แสดงถึงการฟื้นตัวเล็กน้อยของการบริโภคของภาคเอกชน และการเพิ่มขึ้นของผลผลิต และราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังคงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่ผลประกอบการที่อ่อนตัวลงของธุรกิจในต่างจังหวัด แต่สินเชื่อส่วนบุคคลกลับมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ยังคงเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการอ่อนตัวของกำลังซื้อในภาคเกษตร และความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งควรจะต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระยะปานกลาง และระยะยาว

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าคาดด้วยอัตรา 2.8% แม้ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2557 แต่ยังคงเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าศักยภาพของประเทศเมื่อพิจารณาจากจีดีพีโดยเฉลี่ยที่เคยเท่ากับ 4.5% ต่อปี ในระหว่างปี 2543-2555 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่เท่ากับเพียง 2.1% ในระหว่างปี 2556 ถึง 2558

ทั้งนี้ ทริส เรทติ้ง ประเมินภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวด้านเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ประกอบด้วย การค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจที่อยู่อาศัย การผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ผู้ผลิตสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ สินค้าเกษตรซึ่งเน้นการส่งออกเป็นสำคัญ ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเล เช่น ปลาทูน่า และกุ้ง ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านผลผลิตจากการระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้นในรูปของมาตรฐานการนำเข้าที่สูงขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก เช่น น้ำตาล และยางธรรมชาติ เริ่มมีการฟื้นตัว แต่ความต้องการในตลาดโลกยังคงอ่อนตัว ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ส่งออกรายอื่นๆ ขณะที่ธุรกิจที่มีแนวโน้มเป็นบวก ได้แก่ การท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น