TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี TMB-SME Sentiment Index พบว่า ความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ต้นปีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา โดยมีแรงหนุนจากมาตรการรัฐดึงความเชื่อมั่นฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุด แต่ยังห่วงเศรษฐกิจไทยอาจอ่อนแรงลงในไตรมาส 2/59
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่และหัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 1/2559 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME 1,272 กิจการทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ที่ 42.1 ปรับขึ้นจากระดับ 40.5 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อน หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2558 ที่ระดับ 34.2 นับเป็นการเพิ่มขึ้น “2 ไตรมาสติดต่อกัน” ครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น และระยะยาวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปีก่อน ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังซื้อ และเม็ดเงินหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศ จนสะท้อนออกมาเป็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น
“เนื่องจากเจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นติดต่อกัน โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจปรับสูงขึ้นอย่างชัดเจน เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาล เช่น มาตรการกระตุ้นการบริโภคช่วงเทศกาล และการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น รวมถึงความชัดเจน และต่อเนื่องในมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน และสภาพคล่องของธุรกิจ SME ซึ่งครอบคลุมในหลายหลายกลุ่มธุรกิจ และพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจได้รับแรงส่งอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปีก่อน ถึงช่วงต้นปีที่ผ่านมา” นายเบญจรงค์ กล่าว
ด้านดัชนีความเชื่อมั่นของธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 54.7 ลดลงจากระดับ 56.9 ยังคงสะท้อนความกังวลผู้ประกอบการ SME บนความต่อเนื่องของรายได้ธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศยังขาดปัจจัยหนุนที่ชัดเจน นอกจากนี้ ธุรกิจ SME ให้ความเห็นว่า ภาวะธุรกิจช่วงสงกรานต์ปีนี้ชะลอตัวกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯ ทยอยสิ้นสุดลง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตร และภัยแล้ง ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่งฟื้นตัวตลอด 2 ไตรมาสที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ SME ในไตรมาสที่ผ่านมา คือ “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและกำลังซื้อชะลอตัว” ถึงร้อยละ 57.4 ของผลสำรวจ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้ประกอบการจากภาคใต้กังวลปัจจัยดังกล่าวสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 70.0 เนื่องจากเครื่องยนต์หลักสำคัญทั้งยางพารา ปาล์ม และสินค้าประมงมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการท่องเที่ยวของภาคใต้ยังไปได้ดี แต่ผลดีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง กังวลสูงเป็นอันดับ 2 และ 3 คิดเป็นร้อยละ 59.1 และ 58.5 ตามลำดับ สาเหตุจากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา
“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ มองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะภัยแล้ง หรือราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อาจส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เพิ่งฟื้นตัวมา 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ยังขาดปัจจัยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อได้ ทำให้อาจมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี” นายเบญจรงค์ กล่าวสรุป