xs
xsm
sm
md
lg

“เทคโนโลยี” ตัวทำลายเศรษฐกิจ??

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขึ้นหัวเรื่องมาแบบนี้หลายคนอาจจะงง และอาจจะแอบด่าผมในใจว่าไปกินยาอะไรผิดขนานมาหรือเปล่าถึงได้คิดแบบนี้ เพราะเวลานี้กระแสของเทคโนโลยีดูจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างที่บางประเทศกำลังผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มสตาร์ทอัปที่ตอนนี้มาแรงจริงๆ

แต่ความจริง คือ ท่ามกลางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาอย่างมากมายนี้ ทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ บางมุมมีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอยในเวลานี้เช่นกัน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่นำหุ่นยนต์เข้ามามากขึ้น ทำให้ใช้แรงงานมนุษย์ลดน้อยลง

คำถาม คือ เมื่อนำหุ่นยนต์ หรือเครื่องจักรมาทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น แล้วแรงงานส่วนที่หายไปนั้นจะไปอยู่ตรงไหน นั่นทำให้เกิดอัตราการว่างงานสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรป และอเมริกา ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานคนไปยังประเทศในเอเชียแทน เท่ากับว่า ประเทศที่ถูกว่าจ้างเหล่านี้ได้ประโยชน์ไป ส่วนคนยุโรป และอเมริกาที่ตอนนี้มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการแทน กลับไม่มีงานทำ

นอกจากนี้ โลกของเรายังอยู่ในภาวะ Over Supply ในแทบทุกด้าน เริ่มตั้งแต่ราคาน้ำมันที่แสดงให้เห็นแล้วว่า คนทั่วโลกไม่ได้ต้องการใช้พลังงานอะไรมากมายขนาดนั้น ราคาจึงร่วงลงมาแรง ขณะที่ชาติผู้ผลิตน้ำมันต่างไม่มีใครที่ยอมลดกำลังการผลิตลง เช่นเดียวกับแร่เหล็กที่ประเทศจีนเร่งผลิตเหล็กราคาถูกออกมาจำนวนมากเพื่อที่จะครองส่วนแบ่งในตลาดโลก (จีนเองก็เชื่อว่า เศรษฐกิจของตัวเองดีพอที่จะใช้เหล็กจำนวนมาก) แต่กลับทำให้ราคาเหล็กทั่วโลกตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จีนจึงต้องมาไล่ปิดโรงงานเหล็กลง
นเรศ เหล่าพรรณราย
หนึ่งในสินค้าที่ Over Supply เป็นจำนวนมากก็คือ สินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้ ความต้องการเร่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะพวกสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ โดยคาดหวังว่าความต้องการบริโภคจะมากพอ ปรากฏว่า ดีมานด์ไม่ได้สูงอย่างที่คาดคิด บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งจึงประสบปัญหาขาดทุนในเวลานี้ โดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น

มาถึงการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัปที่เวลานี้เติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ จนถูกคาดหมายว่า จะเป็นผู้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกนี้ในหลายๆ ด้าน ผมกำลังมองภาพสถานการณ์เวลานี้คล้ายกับเหตุการณ์ “Internet Bubble” เมื่อประมาณยุคต้นของคริสต์ศักราช 2000 จริงๆ เวลานั้นธุรกิจเว็บไซต์เติบโตรวดเร็วมาก อย่างเช่น Yahoo, Amazon, Google แต่เมื่อโตมาจนถึงจุดหนึ่ง รายได้ที่คาดหวังไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ ผลคือ เกิดภาวะฟองสบู่แตก จนสหรัฐฯ ต้องลดดอกเบี้ยจนนำไปสู่ซับไพรม์ไครซิสในอีกหลายปีต่อมา

ไล่มาจนถึงสตาร์ทอัปในยุคปัจจุบัน นำทีมมาโดยเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ที่เป็นรุ่นพี่ และปัจจุบัน ก็มีสตาร์ทอัปดังๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น อูเบอร์ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เติบโตรวดเร็วตามคอนเซ็ปต์ แต่ปัญหาคือเนื้อในของสตาร์ทอัปส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง เงินทุนส่วนใหญ่ยังมาจากกองทุนต่างๆ ที่ใส่เข้ามาเพื่อขยายธุรกิจ โดยคาดหวังว่าจะมีฐานลูกค้ามากพอที่จะสร้างรายได้ต่อไป

แน่นอนว่าย่อมมีสตาร์ทอัปที่ประสบความสำเร็จ แต่บางส่วนคงต้องล้มหายจากไปเพราะไม่สามารถสร้างรายได้อย่างที่คิด ถึงเวลานั้นอาจจะเกิดฟองสบู่ดอทคอมภาค 2 ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่มีเจตนา “แช่ง” ให้เกิด (แถมยังอยากให้สตาร์ทอัปได้เกิดด้วย) แค่เพียงต้องการสะท้อนว่า “ประวัติศาสตร์ย่อมหวนกลับมาเกิดใหม่ได้อีกครั้งเสมอเป็นวัฏจักร” ขออย่าประมาทแล้วกันครับ

นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง


กำลังโหลดความคิดเห็น