xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.-หลักการเหตุผลต้องมีและอธิบายได้ ... “รัฐบูรพา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นอันงงกันไปทั้งสยามประเทศที่ทาง รนม.ฝ่ายกฎหมาย มาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่า จะไม่รับข้อเสนอของทางค่ายอันดับ 1 ที่จะขอเซ้งคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์โดยไม่ต้องประมูลในราคาเท่ากับที่ค่ายดอกมะลิประมูลไว้ที่ราคา 75,000 ล้านบาท

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เรื่องไม่รับข้อเสนอของค่ายอันดับ 1 ที่ประสงค์จะเซ้งโดยไม่ต้องประมูล แต่เป็นประเด็นที่ทาง รนม.ฝ่ายกฎหมาย และ กสทช.บอกว่าจะให้มีการประมูลใหม่โดยเร็ว และให้ทุกค่ายมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลรอบใหม่นี้ ยกเว้นแค่ค่ายดอกมะลิที่ถูกตัดสิทธิ

เพราะก่อนหน้านี้ไม่เกิน 1 อาทิตย์ กสทช.เพิ่งจะประกาศว่า การประมูลครั้งใหม่จะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งก่อนเข้าร่วมประมูล ทั้งนี้ เนื่องมากจากหลักการที่ว่า ไม่ต้องการให้มีผู้ประกอบการรายใดถือครองคลื่นมากเกินไปจนเป็นเหตุที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดในอนาคต

แต่หลังจากการประชุมของ กสทช.กับ รนม.ฝ่ายกฎหมาย เหตุใดหลักการจึงกลับตาลปัตร ค่ายอันดับ 3 ผู้ชนะการประมูลคราวที่แล้วที่ไม่น่าจะมีสิทธิเข้าร่วมประมูล กลับกลายเป็นมีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูล อะไรมันจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เร็วแบบนั้น

ท่าทีของ กสทช. เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบไม่มีหลักการภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 อาทิตย์ ก่อให้เกิดคําถามต่อสังคม และประชาชนจํานวนมากว่า ตกลงแล้ว กสทช. มีหลักการพื้นฐานในการแก้ปัญหาอย่างไรแน่ ใครเป็นผู้มีอํานาจกํากับกิจการโทรคมนาคมกันแน่ ผู้มีอํานาจคือ กสทช. หรือท่าน รนม.ฝ่ายกฎหมาย

การที่ กสทช. มีท่าทีที่จะให้ค่ายอันดับ 3 เข้ามามีสิทธิร่วมประมูลอีกครั้งเป็นเพราะความกลัวที่ว่าถ้าตัดสิทธิค่ายอันดับ 3 จากการประมูลแล้วจะเป็นเหตุให้ค่ายอันดับ 3 ไปฟ้อง กสทช. รึเปล่า และเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงนี้ กสทช. ก็เลยจําเป็นที่จะต้องให้สิทธิเข้าร่วมประมูล

สังคม และประชาชนมีความสงสัยว่า กสทช. เลือกวิธีการแก้ปัญหาบนหลักการใด เพราะว่ากลัวโดนฟ้อง หรือเพราะโดนกดดันจากผู้มีอํานาจในรัฐบาล บนหลักการที่ว่าเพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของประชาชนที่เป็นผู้บริโภค และอุตสาหกรรมโดยรวม ข้อสงสัยเหล่านี้ กสทช.ควรจะต้องตอบ

ผลประโยชน์สูงสุดที่เป็นตัวเงินที่จะได้จากการประมูลที่สามารถนําไปใช้ในการพัฒนาประเทศเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ปัจจัยเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม การป้องกันการผูกขาดในอุตสาหกรรมนั้นก็เป็นส่วนที่สําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

การที่ กสทช.จะให้สิทธิกับทางค่ายอันดับ 3 สามารถเข้าร่วมประมูลในการประมูลครั้งใหม่ได้จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ทางค่ายอับดับ 3 ในการเข้ามาเป็นเสมือนผู้มีอํานาจในการกํากับกิจการโทรคมนาคมแทน กสทช.รึเปล่า

เพราะค่ายอันดับ 3 สามารถเลือกได้ว่า จะประมูลให้ชนะเพื่อผูกขาดคลื่น 900 ทั้ง 17.5 เมกะเฮิรตซ์ หรือแค่เพียงไล่ประมูลราคาให้ราคาขึ้นไปสูงกว่าราคาแรกที่ กสทช. ตั้งประมูล เพื่อให้ทางผู้ชนะประมูลไม่ว่าจะเป็นค่ายอันดับ 1 หรือค่ายอันดับ 2 มีต้นทุนที่สูงกว่าระดับ 75,000 ล้าน ซึ่งจะทําให้ค่ายอันดับ 3 มีความความได้เปรียบในด้านต้นทุนเนื่องจากชนะประมูลไปก่อนแล้วที่ในราคาระดับ 75,000 ล้าน

สังคม และประชาชนที่ให้ความสนใจในเรื่องการประมูล คงไม่ได้สนใจแค่เรื่องว่าทาง กสทช.จะจัดการประมูลใหม่หรือไม่ และเมื่อไหร่ แต่คงจะสนใจเหตุผล และหลักการในการเลือกวิธีแก้ปัญหาของทาง กสทช.มากกว่าว่าจะมีความเป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในภาพรวมมากน้อยเพียงใด

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีผลต่อสังคมในวงกว้าง การแก้ปัญหาแต่ละประเด็นเป็นเรื่องละเอียดซับซ้อน การแก้ปัญหาจะต้องโปร่งใสคงไม่ใช่แค่อธิบายผู้ประกอบการแล้วจบ กสทช. ต้องตอบคําถามประชาชน และสังคมให้ได้ด้วย

ถ้า กสทช.จะให้สิทธิค่ายอับดับ 3 มาเข้าร่วมประมูลก็ควรจะต้องตอบให้ได้ว่า หลักการอะไรที่ทาง กสทช.ใช้เป็นหลักคิดในการตัดสินใจให้ค่ายอันดับดับ 3 กลับมามีสิทธิเข้าร่วมประมูล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เพิ่งประกาศว่าค่ายอันดับ 3 จะไม่มีสิทธิเข้าประมูล

# หวังว่า กสทช. จะเข้มแข็ง และแก้ปัญหาต่างๆ โดยยึดประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก

รัฐบูรพา
กำลังโหลดความคิดเห็น