“เออีซี-แอพเพิลเวลธ์” มองตรงกันว่า Fund Flow จะเป็นปัจจัยสำคัญหนุน SET Index เดือน เม.ย.59 มีโอกาสขึ้นทดสอบจุดสูงสุดครึ่งปีแรกที่ 1,440-1,450 จุด โดยพบว่า ปริมาณซื้อขายสะสมของต่างชาติปรับเพิ่มสู่ระดับ 3.3 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ 15 ก.พ.59 เป็นระดับซื้อสะสมที่ทำจุดสูงสุดใหม่หลังการปรับพอร์ต
นายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เออีซี (AEC) เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือน เม.ย.59 ยังคงปรับตัวในแดนบวกอย่างต่อเนื่อง SET มีโอกาสขึ้นไปทดสอบระดับ 1,440 จุด สูงสุดในรอบครึ่งแรกของปี 59 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากปริมาณซื้อขายสะสมของนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มสู่ระดับ 3.3 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.59 เป็นระดับซื้อสะสมที่ทำจุดสูงสุดใหม่หลังการปรับพอร์ต จากการคำนวณ Foreign Cost เฉลี่ยปรับเพิ่มเป็น 1,370 จุด ซึ่งคาดการณ์ว่า SET จะต้องมีการปรับขึ้นสู่ 1,440 จุด เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศ ได้ Adjusted Returns ที่ 5%
รวมทั้ง Strong Bullish Signal จากตลาด Derivatives โดยสัดส่วนการเปิด Open Interest Put/Call มีการปรับลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ 2.46 เท่า มาเป็น 1.6 เท่า อัตราส่วนการเปิด Call ที่เพิ่มขึ้นมาพร้อมกับมูลค่า Net Long ของนักลงทุนต่างประเทศที่มีฐานะซื้อสุทธิในตลาด Index Futures อยู่ 1.3 แสนล้านบาท และ 3.ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์โลกมีโอกาสฟื้นตัว และหนุนการฟื้นตัวของตลาดหุ้น ในขณะที่ราคาน้ำมัน และราคาทองคำมีการพักฐานในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เราพบว่า ฐานะซื้อสุทธิของน้ำมันดิบ Nymex และ Gold ยังคงปรับเพิ่มขึ้น 33% MoM และ 18% MoM ตามลำดับ
กลยุทธ์การลงทุน แนะเลือกหุ้นหลักใน 2 กลุ่มการลงทุน คือ กลุ่มโรงกลั่น และสถานี NGV ได้แก่ IRPC SPRCSCN และบริษัทที่ได้ประโยชน์จากนโยบาย Tax incentive ภาครัฐฯ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจบริการท่องเที่ยวและโรงแรม (AAV BA CENTEL BDMS BCH LPH) กลุ่มค้าปลีกรวมถึง Commercial Property (CPN PLAT SF ROBINS)
นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอพเพิล เวลธ์ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือน เม.ย.นี้ ยังมีปัจจัยบวกจาก Fund Flows ต่างชาติ และหุ้นขนาดใหญ่หลายตัวยังรอการขึ้น XD ซึ่งมีโอกาสที่จะสนับสนุนดัชนีฯ ขึ้นทำจุดสูงสุดในนี้ค่อนข้างสูง โดยฝ่ายวิจัยประเมินกรณี Best Case ระดับดัชนี SET ที่ระดับ 1,450 จุด (Forward P/E 15.5 เท่า) แนวรับที่ระดับ 1,360 จุด (Forward P/E 14.50 เท่า)
ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามในเดือน เม.ย.นี้ คือ การประชุมระหว่างกลุ่มโอเปก และกลุ่มนอกโอเปกในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ขณะที่ปัจจัยบวกในประเทศ คือ การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 3 และการเริ่มต้นดำเนินการประมูลโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
“ECB มีมติผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงสู่ระดับ -0.4% และขยายวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน ส่วนทิศทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นเพียง 2 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้ Fund Flows ยังไหลเข้าเก็งกำไรในตลาดหุ้นเกิดใหม่”
นายอภิชัย กล่าวด้วยว่า ภาวะการซื้อขายตั้งแต่ต้นจนถึงปลายเดือน มี.ค.59 ต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.89 หมื่นล้านบาท หลังจากปีก่อนขายสุทธิหุ้นไทย 1.5 แสนล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากกรณีที่เฟดอาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ส่งผลให้เม็ดเงินเริ่มไหลกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง
ประกอบกับทิศทางการเมืองไทยเริ่มเห็นสัญญาณบวกการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติตามโรดแมปเลือกตั้งปี 60 น่าจะส่งผลบวกต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติเริ่มเข้ามาซื้อสะสมหุ้นไทยอีกครั้ง จากระดับดัชนี SETปัจจุบันบริเวณ 1,400 จุด คิดเป็นระดับ Forward P/E 15 เท่า แต่ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ ที่ระดับ 16.50 เท่า 18.3 เท่า ตามลำดับ
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำซื้อเก็งกำไร BBLSCB เมื่อราคาอ่อนตัวก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย XD จากสถิติข้อมูล ตั้งแต่ปี 2012-2015 หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มักให้ผลตอบแทนส่วนต่างกำไร (Capital Gain) วันสุดท้ายก่อนขึ้น XD สูงกว่าค่าถัวเฉลี่ยราคาหลังจากมีมติ XD โดย BBL ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 4.3% และ SCB ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.1% และซื้อหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวและค้าปลีกที่ได้รับปัจจัยบวกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น AOT AAV ERW CENTEL ROBINS HMPRO และซื้อกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ITD CK STEC UNIQ รับข่าวงานประมูลภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม หากดัชนี SET ปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้าน 1,430-1,450 จุด แนะนำเริ่มทยอยขายทำกำไร เนื่องจากสถิติดัชนี SET มักจะปรับฐานหลังจากผ่านฤดูกาลจ่ายปันผลในเดือน เม.ย.นั้นส่งผลให้เนื่องจากทิศทางตลาดอาจจะอ่อนตัวลงหลังจากการจ่ายปันผล