xs
xsm
sm
md
lg

ดีดีฯ ชี้ช่องโอกาสอสังหาฯ ไทยใน ตปท.นักลงทุนเชื่อตลาดโตอีกมาก มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณพงศ์ ปานทอง
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ฯ เผยผลสำรวจการถือครองอสังหาฯ ต่างชาติเพื่ออยู่อาศัย ลงทุน จาก 4 ประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พบสิงคโปร์สนใจลงทุนอสังหาฯ ต่างประเทศสูงสุด ชี้อสังหาฯ ไทยศักยภาพเติบโตดีทั้งตลาด และมูลค่าเพิ่ม แถมมูลค่าสินทรัพย์ปรับตัวต่อเนื่องไม่เคยติดลบ แนะเพิ่มไทยเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านภาษา และการสื่อสารภาษาของบุคลากร พร้อมยกระดับกระบวนการการจะซื้อจะขายจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการตั้งราคาขายที่เป็นกลางของผู้พัฒนาโครงการ เพิ่มบทบังคับให้สัญญาจะซื้อจะขายจะต้องมีฉบับแปลภาษาอังกฤษที่มีกฎหมายรับรอง

นายณพงศ์ ปานทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ดอทคอม (DDproperty.com)ภายใต้การบริหารงาน พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป สื่อกลางการค้นหาอสังหาฯ ในภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์การซื้ออสังหาฯ เพื่ออยู่อาศัย และเพื่อการลงทุนในประเทศไทยจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากในปัจจุบัน นักลงทุนในต่างชาติเริ่มรู้จัก และรับรู้ถึงศักยภาพของตลาดอสังหาฯ ในไทยมากขึ้น ภายหลังจากที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ในประเทศไทยเริ่มออกไปทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักลงทุนซื้ออสังหาฯ ในประเทศไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสำรวจการถือครองอสังหาฯ ในต่างประเทศเพื่อการอยู่อาศัย และการลงทุนจากกลุ่มผู้เข้าชมเว็บดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ดอทคอม เว็บไซต์ ใน 4 ประเทศ ประกอบด้วย สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย พบว่า นอกจากการซื้ออสังหาฯ เพื่อลงทุนในประเทศอังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดแล้ว ถือประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากศักยภาพในการเติบโตของตลาด และมูลค่าเพิ่มในอสังหาฯ ยังสามารถขายตัวได้อีกมาก ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุน หรือยิลด์ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเมืองใหญ่ๆ ซึ่งมีราคาของอสังหาฯ สูงกว่าในประเทศไทยหลายเท่าตัว เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง

สำหรับปัจจัยที่ทำให้อสังหาฯ ไทยได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ คือ อสังหาฯ ไทยมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง ด้านกฎหมายก็เอื้ออำนวยให้ชาวต่างชาติสามารถครอบครองอสังหาฯ ประเภทคอนโดฯ ได้ในสัดส่วน 49% ซึ่งมีความคล้ายกับสิงคโปร์ ซึ่งอนุญาตให้ชาวต่างชาติครอบครองได้เฉพาะคอนโดฯ แต่มีข้อได้เปรียบที่การจัดเก็บภาษียังอยู่ในระดับต่ำ ต่างจากสิงคโปร์ที่รัฐบาลจัดเก็บอากรแสตมป์ชนิดพิเศษ หรือที่เรียกว่า Additional Buyer's Stamp Duty (ABSD) เพิ่มเติมจากภาษีอากรแสตมป์ธรรมดาหากมีการถือครองอสังหาฯ หลายๆ แห่ง ทำให้การถือครองอสังหาฯ เพื่อการลงทุนในประเทศไทยให้ผลตอบแทนที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการที่คนสิงคโปร์

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงจำเป็นต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอสังหาฯ ไทย กับประเทศอื่นๆ เช่น ต้องมีการเพิ่มความพร้อมทางด้านภาษา และความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษของบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ โดยจะต้องพูด ฟัง อ่าน และเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ กระบวนการการจะซื้อจะขายจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงการตั้งราคาขายที่เป็นกลางของผู้พัฒนาโครงการ และสุดท้ายคือ การเพิ่มบทบังคับให้สัญญาจะซื้อจะขายจะต้องมีฉบับแปลภาษาอังกฤษที่มีกฎหมายรับรอง”

นายณพงศ์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ใน 4 ประเทศ พบว่า ไทย และอินโดนีเซีย ดัชนีมีการปรับตัวสูงขึ้น สืบเนื่องจากการลงทุนในโครงการสร้างพื้นฐานของภาครัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ และการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อตัวเมืองกับชานเมือง รวมถึงการปรับขึ้นของราคาประเมินที่ดินปี 2559-2562 ของไทย ในทางตรงกันข้าม ดัชนีราคาอสังหาฯ ในสิงคโปร์ และมาเลเซีย กลับติดลบ เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นหลัก และผลพวงมาจากปัจจัยภายในประเทศ เช่น การออกมาตรการคุมฟองสบู่อสังหาฯ ในสิงคโปร์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และการพิจารณาการจัดเก็บภาษีสำหรับสินทรัพย์ระดับลักชัวรีในมาเลเซีย ทำให้ผู้บริโภค อีกทั้งผู้ประกอบการขาดความมั่นใจ และชะลอการซื้อ

สำหรับการถือครองอสังหาฯ เพื่อการลงทุนนักลงทุนที่นิยมซื้ออสังหาฯ ในสิงคโปร์ หรือประเทศที่ได้ชื่อว่าราคาอสังหาฯ แพงติดอันดับโลก จะเป็นมหาเศรษฐีจากจีน และมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 54% จากจำนวนผู้ซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนจากสิงคโปร์กลับนิยมลงทุนอสังหาฯ ภายนอกประเทศมากกว่า เช่น ประเทศไทย ที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับความสนใจ เนื่องจากการเดินหน้า และขับเคลื่อนการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายเส้นรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลของภาครัฐบาล จึงเป็นผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในคอนโดฯ ขนาด 1-2 ห้องนอน หรือตั้งแต่ 30 ตารางเมตรขึ้นไป เพื่อเก็งกำไรจากการปล่อยเช่าให้แก่ชาวยุโรป

ขณะที่นักลงทุนในอินโดนีเซียนิยมซื้ออพาร์ตเมนต์ที่ตั้งอยู่ในโซนธุรกิจ หรือซีบีดี ใกล้สถาบันการศึกษา และที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้กับแนวรถไฟฟ้า MRT ในเมืองจาการ์ตา ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างซึ่งจะเป็นรูปแบบผสมระหว่างบนดิน และใต้ดิน และคาดจะเริ่มเปิดใช้งานในปี 2561-2562 หรืออีก 2 ปีข้างหน้านี้ ส่วนการลงทุนในมาเลเซีย ไม่เป็นที่นิยมเพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมฟองสบู่ ที่รวมถึงข้อบังคับ MYR1/2mil สำหรับการถือครองอสังหาฯ ของชาวต่างชาติ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติซื้อได้เฉพาะบังกะโล และคอนโดมิเนียมที่มีราคาไม่ต่ำกว่า 1 ล้านริงกิตมาเลเซีย หรือไม่ต่ำกว่า 8 ล้านกว่าบาท ที่ตั้งอยู่ในเขตคลาง แวลเลย์ เกาะปีนัง และเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดอสังหาฯ จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ จะได้บทสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น