xs
xsm
sm
md
lg

ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง คาดรายได้ปีนี้โต 150%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง คาดรายได้ปีนี้โต 150% จากปีก่อนทำได้ 304.90 ล้านบาท หลัง COD โรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 2 แห่ง “มหาชัย กรีน เพาเวอร์ และทุ่งสัง กรีน” ด้านผู้บริหารหนุ่มไฟแรง “เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” ปลื้ม!! เผยผลงานปี 58 ทำได้ตามเป้าหมาย รับอานิสงส์โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรกไบโอเพาเวอร์ หนุนเป้า 3-5 ปีข้างหน้า กุมกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า 150-200 เมกะวัตต์

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า ในปี 2559 บริษัทฯ คาดว่ารายได้จะเติบโต 150% จากปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 304.90 ล้านบาท เนื่องจากทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่สามารถจ่ายไฟได้เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 โครงการ คือ โรงไฟฟ้าชีวมวล ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่เดินเครื่องจ่ายไฟ (COD) ได้อีก 2 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน

“ในปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้รวม 304.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 258.25 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 46.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 28.50 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ที่มีกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตเสนอขาย จำนวน 9.2 เมกะวัตต์ เข้ามาเต็มปี และถือว่าเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลโครงการแรกของบริษัทที่สร้างผลประกอบการออกมาได้อย่างน่าประทับใจมาก”

นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การขายไฟในแบบระบบ Feet in Tariff (FiT) จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการเติบโตแบบก้าวกระโดดในระยะเวลาสั้น เพราะอัตราการทำกำไรจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่ากับ 45-50% ของรายได้ ซึ่งสอดคล้องต่อแผนธุรกิจใหม่ของบริษัทที่จะมีกำลังการผลิต 150-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีระยะเวลาคืนทุนที่เร็วขึ้น หลังได้รับปัจจัยบวกจากการขายไฟในระบบ FiT ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนไปพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ ซึ่งถือเป็นการลงทุนในประเภทธุรกิจหลัก (Core Business) ดังนั้น จึงมีนโยบายที่จะติดตาม กำกับ ดูแลบริษัทย่อยที่ได้เข้าไปลงทุนทั้งในด้านการบริหาร (Management) และการดำเนินการ (Operation) อย่างชัดเจน โดยมีการแต่งตั้งกรรมการตัวแทนตามมติกรรมการของบริษัทฯ เข้าไปเป็นกรรมการในแต่ละบริษัทย่อยที่เข้าไปลงทุน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า บริษัทย่อยจะดำเนินธุรกิจตามนโยบายเดียวกันกับบริษัทฯ

นอกจากนี้ ยังจัดให้มีระบบงานที่สามารถสนับสนุนการประสานงาน และการรายงานที่เป็น daily operation ระหว่างทีมผู้บริหารในด้านการปฏิบัติการของบริษัทย่อย และบริษัทฯ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น