“รมช.คลัง” เผยที่ประชุม “ครม.” เห็นชอบโครงการบ้านประชารัฐ สร้างโอกาสผู้มีรายได้น้อยมีบ้านหลังแรกของตัวเอง “ธอส.” ยันเดินหน้าโครงการฯ ได้ทันที เปิดให้ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่ 23 มี.ค.นี้ ขณะที่ “ออมสิน” พร้อมเข้าร่วมปล่อยกู้ฯ คาดปล่อยสินเชื่อได้ทะลุ 2 หมื่นราย
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการบ้านประชารัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสผู้ให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้มีรายได้ไม่แน่นอนที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาที่ไม่สูง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย (KTB) สนับสนุนสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนทั้งสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้พัฒนาโครงการ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง หรือซ่อมแซมต่อเติม มีระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบ
สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ประจำ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรืออาชีพอิสระที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ยกเว้นกรณีการซ่อมแซม และ/หรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ มูลค่ารวมของที่ดิน และที่อยู่อาศัยที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย โดยให้ ธอส. และธนาคารออมสิน ทำหน้าที่คัดกรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการฯ
มาตรการสินเชื่อ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) ธอส. ธนาคารออมสิน และ ธนาคารกรุงไทยฯ ร่วมกันจัดวงเงินสินเชื่อประมาณ 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้เอกชนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการเคหะแห่งชาติ ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ
2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) ธอส. และธนาคารออมสิน จัดทำโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 40,000 ล้านบาท ระยะเวลาเงินกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio : DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (Debt to Income Ratio : DTI) โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
(1) อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษสำหรับกรณีวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อ เช่าซื้อ ก่อสร้าง ราคาไม่เกิน 7 แสนบาทต่อหน่วย และวงเงินสินเชื่อเพื่อซ่อมแซม และ/หรือต่อเติมที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อหน่วย
(2) อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนสำหรับกรณีวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อ เช่าซื้อ ก่อสร้างที่อยู่อาศัย ราคามากกว่า 7 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อหน่วย
ขณะที่เอกชนผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการฯ ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ 2% ของราคาที่อยู่อาศัย และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการจำนอง 1% ของมูลค่าจำนอง เป็นระยะเวลา 2 ปี และรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางในปีที่ 1 รวมทั้งให้ส่วนลดพิเศษไม่น้อยกว่า 2% จากราคาขายสุทธิหลังหักส่วนลดปกติด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่าการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสังคม โดยการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ประจำ ได้แก่ ข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรืออาชีพอิสระสามารถมีที่อยู่อาศัยหลังแรกเป็นของตนเอง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นๆ (Value Chain) ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ
นางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบจัดทำโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย และปานกลาง ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้สนับสนุนสินเชื่อ “โครงการบ้านประชารัฐ” วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.สินเชื่อพัฒนาโครงการ (Pre Finance) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นำไปจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-2 เท่ากับ 4% ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า MLR - 1% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ 6.65% ต่อปี)
2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) สำหรับประชาชนทั่วไป วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนแยกออกเป็น (1.) วงเงินกู้เพื่อซื้อ หรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 700,000 บาท หรือกรณีกู้เพื่อซ่อมแซม หรือต่อเติมวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 1 ปีแรก ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปีที่ 4-6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา อัตราดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)
(2.) วงเงินกู้เพื่อซื้อ หรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 700,000 บาทแต่ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ปีที่ 1-3 เท่ากับ 3% ต่อปี ปีที่ 4-6 อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี และปีที่ 7 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1% ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี โดยผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ยกเว้นกรณีซ่อมแซม หรือต่อเติมที่อยู่อาศัย ซึ่งมูลค่ารวมของที่ดินและที่อยู่อาศัยที่จะขอกู้เพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
“วัตถุประสงค์ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ซ่อมแซม/ต่อเติม และซื้อทรัพย์ NPA ซึ่ง ธอส.มีทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 2,300 รายการ และเพื่อให้ลูกค้าประชาชนมีโอกาสได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้นเพียงพอต่อการซื้อบ้านในฝันของตนเอง ธอส.จึงผ่อนปรนสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) เพิ่มเป็นสูงสุดไม่เกิน 50% ของรายได้สุทธิต่อเดือนกรณีลูกค้ารายย่อย”
กรณีลูกค้าสวัสดิการที่ทำข้อตกลงหักเงินเดือนกับธนาคารจะใช้ DSR ที่ 80% ของรายได้สุทธิ ผ่อนชำระนานสูงสุด 30 ปี ซึ่งจะทำให้วงเงินกู้ของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น และอัตราผ่อนชำระรายเดือนลดลง เช่น กรณีวงกู้ไม่เกิน 700,000 บาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 3 ปีแรกเพียง 3,000 บาท/เดือน วงเงินกู้ 1.5 ล้านบาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 7,200 บาท/เดือน กรณีกู้ซ่อมแซม/ต่อเติม วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท เริ่มต้นผ่อนชำระ 2,100 บาท/เดือน
สำหรับลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 22 มีนาคม 2559 หรือภายใต้กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยกำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อบ้านในอัตราดอกเบี้ยต่ำภายใต้ “โครงการ บ้านประชารัฐ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอในวันนี้ (15 มีนาคม 2559)
โดยธนาคารออมสิน ได้จัดสรรวงเงิน 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการไม่เกิน 2 ปี ปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปสำหรับซื้อบ้านใหม่หรือที่สร้างเสร็จพร้อมอยู่ และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของสถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ หรือบ้านมือสอง ที่เข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐเท่านั้น (ที่ดินพร้อมบ้าน หรือห้องชุด) แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นบ้านหลังแรก หรือจะกู้เพื่อปลูกสร้างบ้าน รายละไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รวมทั้งการปล่อยกู้เพื่อต่อเติม/ซ่อมแซมบ้านในที่ดินของตนเอง วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท หลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อแบบมาก่อนได้ก่อน เมื่อหมดวงเงินถือว่าสิ้นสุดโครงการ
ทั้งนี้ ธนาคารฯ ไม่จำกัดรายได้ผู้กู้ แต่สัดส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DTI) ต้องไม่เกิน 50% กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นขั้นบันไดในช่วง 6 ปีแรก ระยะเวลาผ่อนสูงสุด 30 ปี โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น 2 วงเงิน คือ 1.วงเงินกู้ไม่เกิน 700,000 บาท ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% เงินงวดประมาณ 3,000 บาท ปีที่ 2-3 ดอกเบี้ยคงที่ 2% เงินงวด 3,000 บาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 4,000 บาท ปีที่ 7 เป็นต้นไป ดอกเบี้ย MRR-1.475% (ปัจจุบัน MRR ของธนาคารออมสิน = 7.475%) เงินงวด 4,500 บาท 2.วงเงินกู้ 700,001 บาท - 1.5 ล้านบาท ปีที่ 1-3 ดอกเบี้ยคงที่ 3% เงินงวด 7,200 บาท ปีที่ 4-6 ดอกเบี้ยคงที่ 5% เงินงวด 8,600 บาท ปีที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกบี้ย MRR-1.475 ถึง MRR-1.725% เงินงวด 7,900 - 9,100 บาท
สำหรับคุณสมบัติผู้มีสิทธินั้นเป็นผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้มีรายได้ประจำ ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีรายได้ไม่แน่นอนหรืออาชีพอิสระ ภายใต้เงื่อนไขไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ไม่มีชื่อ หรือเคยเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านที่นำมาแสดงเป็นหลักฐานยื่นกู้ และต้องมีชื่อเป็นผู้อาศัยในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 3 ปี
ทั้งนี้ การปล่อยกู้โครงการบ้านประชารัฐไม่ทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะยังคงเงื่อนไขวิเคราะห์สินเชื่อตามปกติ เพียงแค่ปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีความสามารถชำระหนี้โดยให้ดอกเบี้ยถูกลง เพื่อให้ผ่อนค่างวดถูกลง เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสินจากโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่สนับสนุนประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และดอกเบี้ยถูกไม่ได้มุ่งหวังกำไร เพียงแต่สามารถบริหารจัดการได้โดยไม่ขาดทุน คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อยราว 2 หมื่นราย หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 1 ล้านบาท