“สรรพากร” กระทุ้งผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้ถูกต้องแก่ลูกค้า โดยต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อไม่ให้สินค้าที่ซื้อไปเป็นสินค้าต้องห้าม และมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
นายสมชาย แสงรัตนมณีเดช รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการจัดทำบัญชี และงบการเงินให้สอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีชุดเดียว) จำนวนเกินกว่า 4 แสนราย และมีผู้ประกอบการที่เป็นบริษัท SMEs เข้าร่วมจดแจ้งเป็นจำนวนมากได้สอบถามในประเด็นเกี่ยวกับการระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการออกใบกำกับภาษีที่ถูกต้อง จึงขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้
1.ผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เฉพาะกรณีผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ถ้าผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการก็ไม่จำต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษีแต่อย่างใด
กรณีผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้แจ้งให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการแจ้งรายการเกี่ยวกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร โดยวิธีปิดเป็นประกาศ หรือแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นการทั่วไป หรือเป็นรายบุคคล หรือแจ้งโดยวิธีการอื่นใดแล้ว หากผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้แจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ทราบ หรือแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ถือได้ว่าผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการมิได้มีเจตนาที่จะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีรายการไม่ครบถ้วนตามกฎหมายแต่อย่างใด
2.ถ้าผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการมิได้แจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และรายการสถานประกอบการดังกล่าว และได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งไม่มีรายการดังกล่าวนั้น ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นก็จะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และถ้าการที่ไม่ได้แจ้งรายการดังกล่าวนั้นมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรก็จะต้องรับผิดตามกฎหมายต่อไป
3.กรณีผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนเองให้แก่ผู้ขายสินค้า หรือผู้ให้บริการแต่อย่างใด
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยสามารถดูรายละเอียดได้จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2556 และคำชี้แจงกรมสรรพากรเรื่อง การระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ลงวันที่ 24 มีนาคม 2558 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกพื้นที่ และศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร โทร.1161