ตลท.เปิดผลการดำเนินงาน บจ.ในตลาดหุ้นไทยปี 58 มียอดขายรวม 10,371,384 ล้านบาท ลดลง 9.35% จากปีก่อน แต่ผลจากการมีอัตรากำไรขั้นต้นปรับดีขึ้น ทำให้ บจ.มีกำไรสุทธิรวมในปี 58 ลดลงเพียง 1.37% จากปีก่อนอยู่ที่ 696,978 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 4 ปี 2558 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 152.54% จากงวดเดียวกันปีก่อน
ดร.สันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือใน SET จำนวน 541 บริษัท หรือคิดเป็น 97.13% จากทั้งหมด 557 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล้ว โดย บจ.มีกำไรสุทธิ จำนวน 441 บริษัท คิดเป็น 81.52% ของบริษัทที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด มียอดขายรวมเท่ากับ 10,371,384 ล้านบาท ลดลง 9.35% และมีกำไรสุทธิ 696,978 ล้านบาท ลดลง 1.37% จากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดธุรกิจเหล็กที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และราคาเหล็กปรับลดลงในปี 2558 และการขาดทุนสินค้าคงคลัง รวมถึงหมวดธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสุทธิลดลงจากการมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาผลการดำเนินงานโดยไม่รวมหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และธุรกิจหมวดเหล็กที่มีเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ พบว่า บจ.จะมียอดขายลดลง 1.33% แต่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 5.95% จากปีก่อนหน้า
สำหรับการผลการดำเนินงานของ บจ.ไตรมาส 4 ปี 2558 มียอดขายรวม 2,583,157 ล้านบาท ลดลง 7.50% จากงวดเดียวกันปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 170,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 152.54% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดปิโตรเคมี ปรับดีขึ้น ขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2558 บจ.มียอดขายปรับดีขึ้น 2.47% และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 189.00% และเมื่อพิจารณาฐานะของกิจการ พบว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ 1.18 เท่า ลดลงจาก 1.23 เท่า ในปี 2557 แสดงถึงโครงสร้างเงินทุนของ บจ.ที่แข็งแรง
ในปี 2558 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มน้ำมันดิบ และราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ มีส่วนทำให้ บจ.ใน SET มียอดขายลดลงจากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยอดขายในหมวดธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค หมวดธุรกิจเหล็ก และหมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่ปรับลดลง ขณะเดียวกัน มีส่วนช่วยให้ บจ.มีต้นทุนการผลิตลดลงเช่นกัน จึงทำให้ในภาพรวม บจ.มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้นมาอยู่ที่ 22.31% เทียบกับ 18.69% ในปีก่อนหน้า
โดยในปี 2558 พบว่า บจ.มีกำไรสุทธิกระจายอยู่ในทุกหมวดธุรกิจ ยกเว้นหมวดธุรกิจเหล็ก โดยมี 17 หมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่มีกำไรสุทธิ ยอดขาย และอัตรากำไรขั้นต้น ปรับสูงขึ้นมีถึง 9 หมวดธุรกิจ เรียงลำดับตามมูลค่ากำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พาณิชย์ อาหารและเครื่องดื่ม การแพทย์ เงินทุนและหลักทรัพย์ ยานยนต์ แฟชั่น การท่องเที่ยวและสันทนาการ และบริการเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ การฟื้นตัวของกลุ่มส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการบริหารต้นทุนได้ดีขึ้น
“ด้านผลการดำเนินงานปี 2558 ของ บจ.ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ปรับดีขึ้น โดย บจ. mai มียอดขาย 124,826 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.79% และมีกำไรสุทธิ 5,718 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.19% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 21.27% เป็น 24.33%” ดร.สันติ กล่าว