xs
xsm
sm
md
lg

“SPCG” โชว์วิสัยทัศน์ ยก 3 มาตรการนำไทยผู้นำพลังงานเออีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ซีอีโอ SPCG” โชว์วิสัยทัศน์ ยก 3 มาตรการนำไทยเป็นผู้นำพลังงานแห่งเออีซี หนุนชาติอาเซียนจับมือเสริมความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจ ชี้จุดเด่นเป็นศูนย์กลางเอเชีย ประชากรมากกว่า 2.6 พันล.คน ชูพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานแห่งความมั่นคง สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Empower ASEAN 2016 “The Boundless Network” ในหัวข้อ “The Unlimited Business Possibilities of ASEAN and its Potentialin the Sustainable Energy Industry” จัดโดยสามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ (สมาคมนักเรียนไทยในประเทศสหราชอาณาจักร) ถึงโอกาสในการขยายการลงทุนด้านพลังงานในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เป็นองค์กรสมาชิกกว่า 10 ประเทศว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นโอกาสอันดี เนื่องจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทำให้มีประชากรรวมกันกว่า 650 ล้านคน เกิดการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านต่างๆ ทั้งแรงงาน เทคโนโลยี การลงทุน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพ และความแข็งแกร่ง และถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เนื่องจากประเทศสมาชิกในกลุ่มมีทำเลที่ตั้งอยู่กลางระหว่างจีน และอินเดีย ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 2,600 ล้านคน

สำหรับมาตรการที่ประเทศไทยได้กำหนดขึ้น และปฏิบัติจนได้เป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน คือ 1.มีการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน/พลังงานทดแทนให้มีสัดส่วนประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ในปี พ.ศ.2579 โดยได้กำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไว้ถึง 6,000 เมกะวัตต์ 2.มีการจัดทำโครงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 3.มีการกำหนดเป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงกว่า 25 ล้านตัน CO2 และยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการขนส่ง และการคมนาคมของภูมิภาค รวมถึงความร่วมมือเพื่อพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประเทศสมาชิกล้วนต้องรับมือต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น พม่า ได้เปิดระบบเศรษฐกิจแบบเสรีมากขึ้น ปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน แต่สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าได้เพียง 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงาน

นางวันดี กล่าวว่า บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้บุกเบิกและพัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์มเชิงพาณิชย์รายแรกที่ใหญ่ที่สุดทั้งในประเทศไทย และอาเซียน มีความตั้งใจพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความพร้อมที่จะขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ฟิลิปปินส์ เพื่อรองรับการเป็นหนึ่งเดียวกันของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนควรจะมีการกำหนดประเทศผู้นำเพื่อที่จะกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างกัน และระหว่างประเทศนอกกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับประเทศไทย รัฐบาลยังให้การสนับสนุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในพื้นที่เขตแดนที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในประเทศภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น