EIC SCB ประเมินจีนยังโดดเด่นแม้จะอยู่ในภาวะชะลอจากการปรับโครงสร้าง ชี้บทบาทเพิ่มใน 3 มิติ “ขยายลงทุน ตปท.-ผู้นำไอที-ประชากรที่มีชนชั้นกลางเพิ่มสูง” แนะผู้ประกอบการไทยรับมือเงินลงทุนไหลเข้า ทั้งด้านโอกาสการต่อยอดธุรกิจ และคู่แข่งที่สำคัญ
น.ส.ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์ธุรกิจและอุตสาหกรรม และรักษาการคลัสเตอร์ส่งออก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (EIC SCB)กล่าวว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจจีนอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเพื่อเน้นให้มีการเติบโตที่ยั่งยืนขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ (2559-2563) เศรษฐกิจจีนจะเติบโตประมาณ 6.5-7% ต่ำกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่เติบโตเฉลี่ย 9% ด้วยการเน้นการเติบโตที่ภาคการอุปโภคบริโภค จากเดิมที่โตจากการลงทุน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนภาคการบริโภคต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 51% จากเดิม 41% ขณะที่ภาคการลงทุนลดลงมาที่ 40% จาก 47%
ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าวของจีนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญระดับโลก 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ การขยายการลงทุนในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างการผลิตรองรับการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นของประเทศ การพัฒนาด้านนวัตกรรมเพื่อขยับขึ้นสู่ผู้นำจากเดิมที่เป็นผู้ผลิตตาม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนได้ใช้งบประมาณด้านวิจัย พัฒนาไปค่อนข้างสูง และการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางที่สูงขึ้นมาก จะเป็นการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ที่อยู่อาศัย และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในต่างแดน
น.ส.ธีรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข่าวที่ไม่ดีจากจีน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การอ่อนค่าของเงินหยวน แต่ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้นเรามองว่าจีนจะเพิ่มบทบาทตัวเองในเวทีโลกมากขึ้นภายใต้แผนปฏิรูปนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยจะเน้นไปด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสานต่อนโยบายเส้นทางสายไหม รวมถึงธุรกิจที่ช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยี ขณะที่จำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 109 ล้านคน ก็จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสินค้า และบริการทั้งด้านอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยว
“โจทย์ก็คือ ผู้ประกอบการของไทยจะใช้การเปลี่ยนแปลงนี้มาต่อยอดกับธุรกิจของตัวเองอย่างไร หรือทำอย่างไรถึงจะเข้าไปอยู่ในซัปพลายเชนของเขา ซึ่งอีไอซีมองว่า ธุรกิจที่จะรองรับการปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว เทคโนโลยี จากเดิมที่จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก เช่น วัสดุก่อสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม การขยายการลงทุนเข้ามาของจีนนั้นก็มีผลต่อผู้ประกอบการทั้งในด้านบวกที่จะทำให้มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจเพิ่มในกรณีสินค้า บริการที่เข้ามาลงทุนแตกต่างกัน ขณะเดียวกัน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเข้ามาเป็นคู่แข่งของธุรกิจหากสินค้า บริการที่เข้ามาลงทุนเหมือน หรือมีเทคโนโลยีสูงกว่าที่เรามีอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมให้ทั้งในด้านของโอกาสการต่อยอดธุรกิจ และรับมือต่อการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น