ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นตลาดที่มีคนรู้จักมากมายเป็นอันดับ 4 ของตลาดดอกไม้ทั่วโลก และยังติดอันดับ 3 ตลาดกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีประวัติความเป็นมามากกว่า 50-60 ปี มีเอกลักษณ์รากเหง้า วิถีชีวิต ชุมชน คนริมแม่น้ำเจ้าพระยา กว่าจะได้เข้ามาพัฒนา และบริหารปากคลองตลาด เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์สำหรับ เฉลียว ปรีกราน จากเดิมที่ตั้งใจเข้ามาบริหารแค่ปากคลองตลาด ลามเข้ามาพัฒนาตลาดยอดพิมาน และยอดพิมาน ริเวอร์ วอล์ค พัฒนาทั้งหมดในเนื้อที่กว่า 14 ไร่
แม้ตลาดยอดพิมาน จะมีอายุเพียง 50-60 กว่าปี หากแต่ความสำคัญของย่านปากคลองตลาด ย้อนนับถอยหลังไปได้กว่า 100 ปี เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 บริเวณปากคลองตลาดเคยเป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุด ก่อนจะถูกย้ายไปอยู่ที่หัวลำโพงในปัจจุบัน และเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนกลางมาก่อน หลังจากโรงเรียนได้ถูกรื้อลงจึงมีการสร้างอาคารขึ้นทดแทน ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้ามาจับจองพื้นที่ขายสินค้าที่ริมน้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก มีทั้งเรือสินค้า เรือแจว และเรือนแพของประชาชน ยาวตั้งแต่บริเวณท่าปาคลอง ไปจนถึงท่าเตียน ทำให้การพัฒนาพื้นที่จึงเป็นต้องศึกษา และค้นคว้าที่ทำอย่างไรที่จะอนุรักษ์วิถีชุมชนเดิมไว้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องต่อยุคสมัยปัจจุบันด้วย
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาพัฒนาจากที่ปากคลองตลาดเดิม เป็นตลาดเก่าแก่มากกว่า 60 ปี ต้องการหาเอกชนเข้ามาพัฒนาบริหาร ซึ่งได้พยายามสรรหาบุคคลต่างๆ ที่สนใจเข้ามาหลายราย แต่ละรายส่งแผนมาให้คณะกรรมการอนุรักษ์ และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยส่วนใหญ่มีแผนพัฒนาเป็นศูนย์การค้า จึงติดปัญหาไม่ผ่านกฎระเบียบของคณะกรรมการฯ ที่ต้องการจะให้เป็นพื้นที่โล่งสีเขียว ต้องย้ายผู้ค้าทั้งตลาดดอกไม้ ผลไม้ ออกไปอยู่นอกเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะทำกันมานาน ค้าขายมากกว่า 50-60 ปี เป็นวิถีชุมชนที่อยู่กันมาหลายรุ่น การที่จะย้ายตลาดออกไปคงต้องมีการต่อต้านจากชุมชนแน่นอน จนกระทั่งมาถึงกลุ่มของผม เป็นรายที่ 11 มีการทำแผนแก้ไขปรับปรุงถึง 3 ครั้ง
เราได้นำเสนอแผน และโครงการไปยังคณะกรรมการเกาะกรุงฯ ครั้งแรกไม่ผ่าน เพราะต้องการพื้นที่โล่งสีเขียวอย่างเดียว ซึ่งกลุ่มเราได้อธิบายว่า แถวนี้มีวิถีชุมชน ย้ายออกไปลำบาก เสนอครั้งที่ 2 ได้ปรับแผนใหม่ เราทำให้เป็นตึกแถวมีที่จอดรถใต้ดิน ซึ่งก็ไม่ผ่าน เพราะไม่ต้องการให้เป็นตึกสูงทำไม่ได้แน่นอน จนกระทั้งครั้งที่ 3 ได้เชิญคณะอนุกรรมการฯ ทั้งหมด มาประชุมที่ตลาดยอดพิมาน แล้วให้นั่งเรือดูพื้นที่ทั้งหมด จึงสรุปให้เราทำเป็นตึกก็ได้ แต่จะต้องทำในรูปแบบของตึกเดิม ห้ามสร้างใหม่เด็ดขาด ดังนั้น ตึกที่เห็นทั้งหมดนี้จะเป็นการซ่อมแซม ปรับปรุงตึกเก่าทั้งสิ้น ซึ่งเดิมส่วนใหญ่จะเป็นโกดัง และตึกริมแม่น้ำจะเป็นพักอาศัยของพนักงานตลาด
หลังจากแผนได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการเกาะกรุงฯ แล้ว เราจึงจะมีสิทธิเซ็นสัญญากับองค์การการตลาด ได้สัมปทานมา 30 ปี จึงเริ่มเข้าไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่อย่างจริงจังเพื่อทำแผนพัฒนา พบว่า ปากคลองตลาดมีใหญ่ๆ อยู่ 3 ตลาด คือ 1.ปากคลองตลาด มีเนื้อที่ 5 ไร่กว่า 2.ตลาดยอดพิมาน มีเนื้อที่ 9 ไร่กว่า และ 3.ตลาดส่งเสริมเกษตรอยู่ฝั่งตรงข้าม มีเนื้อที่ 4 ไร่กว่า ตลาดที่ติดแม่น้ำมี 2 ตลาด ซึ่งเป็นพื้นที่วิวสวยมาก จึงต้องการที่จะนำทั้ง 2 ตลาดเข้ามาเชื่อมต่อกัน พัฒนาให้เต็มพื้นที่ จึงได้เข้าพบเจ้าของที่ดินขอสัมปทาน 30 ปี โดยเป็นที่ดินของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา ซึ่งมี ม.ร.ว.สุนิดา กิติยากร ธิดาเป็นผู้ดูแล
การเข้าพบเพื่อขอสัมปทาน 30 ปี มาพัฒนาเชื่อมต่อจากตลาด กลายเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ที่คุณหญิงท่านถามว่า เราจะเอาไปทำอะไร ซึ่งเราก็ตอบท่านว่า เจตนาเดิมของเราต้องการที่จะอนุรักษ์ตลาดดอกไม้ไว้ให้คงอยู่คู่กับชุมชน เพียงแต่ต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นการค้าขายเชิงท่องเที่ยวด้วย ดังนั้น ท่านจึงบอกว่า ถ้าจะทำเป็นตลาดก็ไม่ต้องเช่า มาซื้อไปเลยดีกว่า แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องทำเป็นตลาด อย่าให้ผู้ค้าเดือดร้อน หากยังคงรักษาตลาดไว้ได้ก็ขายที่ให้เลยไม่ต้องมาเช่า ซึ่งทำให้เราตกใจ และก็แปลกใจมาก
การซื้อที่ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า ผมเป็นรายแรกมีคนเข้ามาเสนอขอซื้อที่ผืนนี้หลายราย ผมเป็นรายที่ 6 ที่ได้ซื้อที่ดินผืนนี้ โดยรายที่ 2-3 มีปัญหาตลอด รายที่ 4 เป็นเพื่อนท่านสมัยเรียน มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายเรียบร้อย แต่มีเหตุต้องยกเลิก รายที่ 5 เสนอขอทำเป็นโรงแรมติดแม่น้ำ ซึ่งเป็นทำเลที่ดี สวยมาก ซึ่งผิดวัตถุประสงค์เดิมของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา ท่านจึงไม่ตกลง จนมาถึงผมเป็นรายที่ 6 ที่เสนอให้เป็นตลาด ท่านจึงสนใจข้อเสนอของเรามากกว่า
การซื้อที่ดินติดแม่น้ำแล้วมาทำเป็นตลาดผักตลาดดอกไม้ ในเชิงธุรกิจแล้วมองว่าไม่คุ้ม ซึ่งเจ้าของที่ได้ประเมินดูแล้ว ถึงความคุ้มค่า และการอนุรักษ์เก็บรักษาเอกลักษณ์ของตลาดดอกไม้ไว้ให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป จึงได้ขายที่ดินให้เราตอนนั้นในราคาถูกเพียง 600 กว่าล้านบาท จากที่ราคาประเมินมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท นับว่าต่ำกว่าราคาประเมินมาก โดยท่านมองว่า ถ้าเป็นตลาดมีรายได้อยู่ประมาณเท่านี้ เราคิดให้ท่านดูว่า มีรายได้เท่านี้ คนที่จะมาลงทุนจะสามารถอยู่ได้ก็ประมาณ 500-600 ล้านบาท ถึงจะอยู่ได้
หลังจากได้ที่ดินมาแล้ว ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างปรับปรุงอาคาร สถานที่ ต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจต่อคู่ค้า ชุมชุน ต้องให้ผู้ค้าไว้ใจ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จากผู้ค้าประมาณ 1,000 กว่าราย ซึ่งการเข้ามาเริ่มต้นเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกร้องเรียน ที่กรมการปกครอง ร้องสภาทนายความ กรรมาธิการการปกครอง ผู้ว่าฯ กทม. รัฐมนตรี โดนมาหมดทุกรูปแบบ แต่เราต้องอดทน พยายามชี้แจงว่า เราจะทำอะไร และสถานการณ์เริ่มดีมากขึ้นตอนน้ำท่วมใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ในปี 2554 ปกติปากคลองตลาดน้ำจะต้องท่วมทุกปีอยู่แล้ว เพราะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
แต่ปีนั้นผมตั้งใจว่าจะไม่ให้น้ำท่วมปากคลอง ดังนั้น จึงได้เตรียมกระสอบทรายมากัน พยายามทำทุกวิธีที่จะไม่ให้น้ำท่วม ในที่สุดก็ทำสำเร็จ และปีนั้นเป็นปีที่น้ำไม่ท่วมปากคลองตลาด แต่ในขณะที่น้ำไปท่วมกันหมดทุกตลาด วิกฤตกันหมดทั้ง ตลาดไท สี่มุมเมือง ยิ่งเจริญ ท่วมหมด ดังนั้น ความน่าเชื่อถือของเราจากคู่ค้าเริ่มกลับเข้ามามากขึ้น เพราะเห็นความตั้งใจจริงของเรา ดังนั้น บรรยากาศของการพูดคุยเจรจาดีขึ้น ใช้เวลาตั้งแต่ปี 2553-2554 กว่าจะเริ่มพัฒนาพื้นที่
การปรับปรุง ตกแต่งสถานที่ จะใช้งบประมาณมากกว่าการสร้างใหม่ ซึ่งระหว่างการปรับปรุงเจอปัญหาตั้งแต่เริ่มก่อสร้างหาสถาปนิก ทีมออกแบบได้ความร่วมมือจากอาจารย์จากเพาะช่าง และอาจารย์จากคณะกรรมการเกาะกรุงฯ และทีมที่ปรึกษาเป็นบุคคลที่อยู่ในบริเวณนี้จะทราบถึงรูปแบบของตึก วิถีชุมชนเป็นอย่างไร คู่ค้าเป็นอย่างไร สถาปัตยกรรมเป็นแบบไหน ดึงต้นแบบมาจากตึกแถวคลองหลอด บ้านหม้อ ฯลฯ ที่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยเดียวกันประมาณรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เริ่มทำไปก็ขุดพบปืนใหญ่ จึงต้องให้กรมศิลปากรเข้ามาตรวจสอบ และนำไปเก็บรักษา ซึ่งได้ศึกษา และค้นหาประวัติศาสตร์ ปรากฏว่า ที่ตรงนี้เคยเป็นป้อมปืนผีเสื้อในสมัยรัชกาลที่ 1
การตั้งชื่อ เราได้ค้นคว้า และหาชื่อที่เหมาะสมต่อความเป็นมาของสถานที่ โดยตามประวัติที่เป็นมาของชื่อ “ยอดพิมาน” ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธิสิริโสภา เป็นเจ้าของที่เดิม ได้ตั้งชื่อนี้ไว้เมื่อท่านเปิดตลาดวันแรก ซึ่งตรงกับวันที่ท่านนำม้าไปแข่งแล้วชนะ ม้าตัวนี้ชื่อ “ยอดพิมาน” เหมือนนำชัยมาให้ เลยตั้งเป็นชื่อตลาด ซึ่งผมดูแล้วเห็นว่าเป็นชื่อที่ดี แล้วไม่ล้าสมัย เพียงแต่เรามาเติม “ริเวอร์ วอล์ค” เข้าไปเพื่อให้ทราบว่าติดกับแม่น้ำ
หลังจากได้ชื่อ “พิมาน ริเวอร์ วอล์ค” แล้ว เราจึงได้มาคิดตั้งชื่ออาคารที่ปรับปรุงมาจากโกดังเดิม 6 โกดัง เป็นอาคาร 6 หลัง เราจึงตั้งชื่ออาคาร 1.สยามปราการ 2.วิมาณอโยธยา 3.นาวาพาณิชย์ 4.วิจิตรพระนคร 5.ยอดพิมานธานี และ 6.บุรีสราญ์ ตั้งชื่อให้คล้องจองกัน และแบ่งเป็นสัดส่วนของอาคารที่มีธีมการตกแต่งภายในอาคารให้สอดคล้องต่อชื่อ จัดโซนการตกแต่งวางคอนเซ็ปต์ไว้ คือ อาคาร 1-2 เป็นกรุงศรีอยุธยา อาคาร 3 เป็นกรุงธนบุรี อาคาร 4 และ 5 เป็นรัตนโกสินทร์ อาคาร 6 เป็นกรุงเทพมหานคร พยายามเน้นให้ร้านค้าตกแต่งเข้าธีมแบบนี้ เพื่อให้สอดคล้องต่อคอนเซ็ปต์ของอาคาร โดยพาะอาคารกรุงเทพฯ เป็นวิวที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงเป็นร้านอาหารที่เน้นนักท่องเที่ยวมานั่งชมวิวบรรยากาศริมแม่น้ำ ส่วนรูปแบบภายนอกจะเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เหมือนกับตึกริมคลองหลอด และบ้านหม้อ ท่าเตียน
ตอนแรกวางโครงการเดิมคิดว่าจะทำเป็นตลาดดอกไม้อย่างเดียว แต่พอเรารื้อโกดังเห็นโลเกชันริมแม่น้ำสวยมาก ถ้าทำเป็นตลาดดอกไม้อย่างเดียวเสียดายสถานที่มาก ผมเชื่อว่า คนที่มาเดินตรงนี้จะต้องรู้สึกแปลกใจที่มีสถานที่สวยติดแม่น้ำ วิวทิวทัศน์ที่สวยงามแบบนี้อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น จึงแบ่งเนื้อที่ด้านล่างจัดเป็นตลาดดอกไม้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เปิดค้าส่งตอนกลางคืน และค้าปลีกตอนกลางวัน นอกจากเป็นการอนุรักษ์ตลาดไว้ ยังเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวได้ชมตลาดที่สวยงามด้วย ชั้นบนจะของที่ระลึก (souvenir) และร้านอาหารที่จะซัปพอร์ตนักท่องเที่ยว
การมองภาพตลาดยอดพิมานเดิมเป็นอดีตไปแล้ว ตอนนี้กำลังเข้าสู่ปัจจุบัน ปรับปรุงให้เข้าการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่าสถานการณ์เปลี่ยนไป บ้านเมืองเราเปลี่ยน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่เออีซี ดังนั้น ทุกประเทศเดินทางเข้าถึงกันหมด ตึกเก่าๆ การค้าแบบเก่าๆ จะถูกเปลี่ยนไปตามยุคสมัยซึ่งเราก็ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย และในอนาคตหลังจากที่รถไฟฟ้าเข้ามา ผังเมืองกำลังจะเปลี่ยน โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาล พยายามทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายมรดกแห่งชาติ ดังนั้น รูปแบบของธุรกิจตามริมแม่น้ำจะถูกปรับเปลี่ยนใหม่หมด เน้นการท่องเที่ยว เพราะตอนนี้เหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวสิ่งที่จะเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทยไว้ ดังนั้น ยอดพิมานจึงนำสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ปรับให้สอดคล้องชูจุดขายความเป็นตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ และสวยงาม ผสมกับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลที่ดูสวยงาม ทำสอดคล้องต่อการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น