ช่วงวันเกิด 15 มกราคมปีนี้ของ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย และยังมีอีกหลายตำแหน่งที่ดูแลช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และสังคม สู่การขับเคลื่อนในการปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
เจ้าสัวปั้น เล่าให้ฟังว่า จัดงานแบบเรียบง่ายไม่มีอะไรเป็นพิเศษมากนัก โดยช่วงเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระร่วมกับญาติพี่น้อง และคนใกล้ชิตที่บ้าน “เจ้าสัว” จังหวัดน่าน ช่วงเย็นมีงานเลี้ยงทานข้าวกับบรรดาญาติพี่น้อง และคนสนิทอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่นแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับวันเกิดปีนี้แล้ว
ก่อนหน้านี้ วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา เจ้าสัวปั้น ได้นำทีมเดินสำรวจพื้นป่า ซึ่งเป็นโครงการ และความตั้งใจที่จะทวงคืนพื้นป่าในจังหวัดน่านให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม จากการตัดไม้ทำลายป่าของประชาชน เพื่อเป็นที่ทำมาหากินจากภูเขาทั้งลูก “จนเป็นภูโกร๋น” โดยพาเข้าป่าขึ้นไปดูน้ำตกสะปัน อยู่บ้านสะปัน ต.ดงพญา อ.บ่อเกือ จ.น่าน น้ำตกสะปัน ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติขุนน่าน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่าดอยภูคา และป่าผาแดง ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์ของป่า
น้ำตกสะปัน เป็นน้ำตกที่มีขนาดกลาง 3 ชั้นใหญ่ ความสูงของชั้นที่ 1, 2 และ 3 สูงประมาณ 3, 5, 6 เมตรตามลำดับ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสวยงามตามธรรมชาติ สภาพป่าบริเวณน้ำตกมีความร่มรื่นร่มเย็น สมบูรณ์สวยงาม และยังเป็นต้นแม่น้ำน่าน ที่หล่อเลี้ยงประชากรทั้งจังหวัด รวมทั้งยังเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ได้ไหลมารวมกันกับเจ้าพระยา ที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศที่หล่อเลี้ยงประชากรส่วนใหญ่ของไทย
ระหว่างเดินนำขึ้นไปบนน้ำตกสะปันชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นที่สูงที่สุด คุณปั้น ได้เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เปี่ยมไปด้วยความสุข ด้วยความสำคัญของน้ำตกสะปัน ตามธรรมเนียมโบราณของล้านนามาหลายร้อยปี เจ้าเมืองน่านจะมาอาบน้ำที่น้ำตกสะปัน เพื่อให้แร่ธาตุที่บริสุทธิ์มาชำระล้างมนต์ดำต่างๆ ซึ่งเจ้าสัวปั้น ผู้ที่หลงไหลเสน่หามนตาแห่งล้านนาอยู่แล้วจึงมีความเชื่อ และมีความผูกพันอย่างลึกซึ้งกับเมืองน่านเป็นอย่างมาก จึงได้ใช้น้ำตกแห่งนี้อาบน้ำเป็นที่ชำระล้างมนต์ดำต่างๆ ให้ออกจากตัว นอกจากจะช่วยล้างมนต์ดำช่วยด้านไสยศาสตร์ต่างๆ แล้ว ยังทำให้เป็นหนุ่มอยู่เสมอ
อาบน้ำตกสะปันล้างมนต์ดำ
“ผมจะเข้ามาอาบน้ำที่น้ำตกสะปันอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งจะเป็นช่วงใกล้วันเกิด และวันนี้ก็เตรียมตัวที่จะมาอาบน้ำตกด้วยเช่นกัน จากเมื่อปีที่ผ่านมา ได้เข้ามาอาบในช่วงเดือนกันยายน 2558 ซึ่งจะพยายามหาโอกาสเข้ามาอาบน้ำอยู่สม่ำเสมอ เพราะทำให้ดูเป็นหนุ่มหน้าใสอ่อนกว่าวัยเยอะมาก วันนี้อากาศค่อนข้างหนาว น้ำจึงเย็นมาก ลงไปอาบเหมือนกับอาบน้ำที่ใส่น้ำแข็ง แต่ก็รู้สึกดีเป็นการทดสอบความหนุ่มได้ระดับหนึ่ง ความที่เป็นต้นแม่น้ำน่านจึงมีความบริสุทธิ์ แร่ธาตุที่สมบูรณ์ ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะไหลเข้าไปรวมนับเป็น 40% ของแม่น้ำเจ้าพระยา”
เปิดบ้าน “เจ้าสัว” ในบรรยากาศ “เริงเหมันต์ในนันทบุรี”
หลังจากลงมาจากน้ำตก เจ้าสัวปั้น ได้เปิดบ้านดื่มด่ำบรรยากาศ “เริงเหมันต์ในนันทบุรี” พร้อมทั้งเล่าถึงความเป็นมาของบ้านรวมถึงเฮือนมะไฟ ทั้งนี้ บ้านเจ้าสัวตั้งอยู่ที่ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ รายล้อมไปด้วยต้นไม้ เนินผาตามหลักฮวงจุ้ย ได้ยกพื้นสูง ตัวบ้านเป็นแบบสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ไม้สัก และไม้แดงผสมกัน มี 3 ชั้น มีใต้ถุนบ้านแบบไทย แบ่งเป็นชั้นแรก คือ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องโถงรับรอง ชั้นสอง คือ ห้องรับแขก ส่วนชั้นสาม คือ ห้องนอน ห้องทำงาน และห้องพระ เป็นบ้านที่อยู่แล้วมีความผูกพัน มีความสุข โปร่งสบาย อยู่แล้วไม่อยากไปไหน
“ผมเชื่อว่าเป็นบ้านที่เทวดาให้มา เริ่มจากการได้ที่ดินผืนนี้มีความเหมาะสมตามหลักฮวงจุ้ยทุกอย่าง ข้างหลังบ้านเป็นทิวเขาแถวป่า หมายถึงหลังแน่นไม่ล้ม มีคนหนุนหลังให้ตลอดเวลา บ้านอยู่บนสุด แล้วมองไปข้างล่างจะมองได้ไกลเห็นทุกอย่างรอบๆ ได้ครบ หมายถึงด้านหน้าจะมองไปไกลทะลุถึงปัญหาต่างๆ”
รวมถึงได้มีซินแสในแต่ละท่านได้เห็น และสัมผัสถึงสิ่งต่างๆ ทั้งที่มองเห็น ไม่สามารถมองเห็นได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน
โดยสถานที่นี้มีผู้หญิงล้านนา ชื่อ “มะไฟ” รอคอยผมมานานหลายร้อยปีเพื่อที่จะมาอยู่ร่วมกัน ในอดีตผมสั่งลงโทษมะไฟโดยการถ่วงน้ำ เพราะมาทำเสน่ห์กับเจ้าเมือง คือ โทษถึงตาย เพื่อไม่ให้ใครทำเยี่ยงอย่างได้ โดยมะไฟต้องการเพียงแค่มีบ้านหลักเล็กๆ อยู่ใกล้กัน ไม่ต้องการที่จะเข้าไปวุ่นวายกับบ้านใหญ่ ซึ่งเมื่อมีเงื่อนไขนี้ผมจึงรีบสร้างบ้านหลังเล็กให้ทันที
“การมาของมะไฟ จะมาแบบไม่ให้ผมเห็น แต่คนอื่นเห็นหลายรูปแบบ ลูกสาวจะเห็นแบบในฝันว่า มีหญิงคนหนึ่งเดินตามพ่ออยู่ ก็แปลกใจว่าจะมาเอาอะไรจากพ่อ ซึ่งลูกสาวบอกว่าไม่ต้องการอะไร แค่มะไฟขอตามมาดูแลเท่านั้นเอง บางคนเจอแบบมายืนต้อนรับอยู่เลย บางคนเห็นในญาณบอกว่า แม่มะไฟ เป็นผู้หญิงที่เกิดในตระกูลผู้ดีในล้านนา เคยอยู่ร่วมกัน มีความความผูกพันที่เกิดขึ้นในอดีต เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมาอยู่ใกล้ๆ กันเท่านั้นโดยที่ไม่ต้องมาเจอตัว ไม่ต้องเรียกร้องอะไรมาก ยกเว้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอะไรที่ทำให้ได้ก็จะทำ”
เฮือนมะไฟ
หลังจากสร้างบ้านเสร็จ มะไฟมีความสุขมาก ซึ่งเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นในอดีต เจ้าสัวกับมะไฟได้เคยอยู่ด้วยกัน เมื่อถึงเวลาที่จะต้องมาอยู่ใกล้ๆ กันโดยที่ไม่ต้องมาเจอตัว และไม่เรียกร้องอะไร วันดีคืนดีก็ไปบอกกับคนอื่นให้ทำบางอย่างให้ เช่น ตรงข้างกี่ทอผ้าที่อยู่ใต้ถุนบ้าน เวลามาทอผ้าก็ไม่มีน้ำกิน ช่วยเอาน้ำมาให้หน่อย ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ทำให้ได้ทันที แต่มีสิ่งหนึ่งที่มะไฟมาขอแล้วยังไม่ได้ทำให้ คือ การร้องเพลงโดยเป็นการร้องเพลงให้ฟังกันในบ้านแบบสองต่อสอง ผมกับมะไฟเท่านั้น ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการรวบรวมความกล้าระยะหนึ่งก่อน
ภายในบ้านมะไฟ แบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องนอน จะมีที่นอน มีเครื่องของใช้ส่วนตัวครบ โต๊ะเครื่องแป้ง เครื่องหอมต่างๆ มีรูปเจ้าสัวด้วย ซึ่งเจ้าสัวเลือกเองทุกอย่างเพื่อตั้งใจทำให้แก่มะไฟ อีกห้องหนึ่งจะเป็นห้องโถงไว้สำหรับรับแขก ในห้องจะมีรูปภาพของหญิงสาวแต่งตัวแบบล้านนา และมีบรรยากาศความเป็นอยู่ของคนล้านนา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลก เพราะภาพนี้ซื้อมาก่อนตั้งแต่ยังไม่มีบ้าน โดยซื้อมาเฉยๆ แบบไม่รู้ตัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น บังเอิญไปเที่ยวชมนิทรรศการของกรุงเทพหมานคร แล้วถูกใจก็ซื้อมา
“แปลกมากเมื่อสร้างบ้านเสร็จมองภาพนี้แล้วรู้สึกว่าผู้หญิงที่อยู่ในภาพนี้ คือ มะไฟ เพราะมีภาพองค์ประกอบที่เป็นล้านนา ตอนที่ซื้อก็ไม่ได้สังเกต และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงได้ซื้อมา เพียงแต่ว่าเป็นรูปที่ดูแล้วสวย แต่ทำไปทำมามีซีน (scene) ที่ตลกมาก ที่มีเจ้าเมืองขี่ม้าอยู่คนเดียว ที่เหลือเป็นภาพของบรรยากาศ และวิถีชีวิตของล้านนา มีการใส่บาตร ซึ่งจริงๆ เข้าใจว่าศิลปินที่วาดภาพก็จะต้องมีนางแบบที่เป็นต้นแบบให้ ซึ่งเป็นใครสักคนที่ผมก็ไม่ได้ไปตามหาว่าเป็นใคร มองว่านางแบบน่าจะเป็นตัวแทนของภาพในอดีต ที่เชื่อเพราะมีอาจารย์บอกว่า คนนี้คือ แม่มะไฟ”
นอกจากนี้ ยังมีรูปภาพหนึ่งที่เป็นตัวหนังสือของล้านนา จะเป็นคำสอนที่ควรจะต้องทำหลักๆ คือ 1.ต้องดูแลเจ้าเมืองเป็นอย่างดี ถึงเวลาเตรียมดอกไม้ เตรียมผลไม้เพื่อไปไหว้พระเป็นวัฒนธรรมล้านนา 2.มีเมตตาแก่ผู้คนทั้งหลาย ญาติพี่น้อง ข้าทาสบริวาร ต้องดูแลให้ดี รวมทั้งเมียคนอื่นๆ ด้วย เป็นคำสอนที่คัดมาจากตำราโบราณที่ให้อาจารย์ที่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาแปล และนำมาเขียนไว้
“บ้านเจ้าสัว” นี้ในระยะยาวเมื่อถึงเวลาที่ไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อไรก็เมื่อนั้น ไม่ใช่ให้ลูกๆ มารับช่วงต่อไป ซึ่งลูกก็จะมีบ้านในแบบของลูกที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ผมจะทำให้บ้านนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับประวัติชีวิต และงานต่างๆ ที่ได้ทำมาไว้ อันแรกที่จะเป็นจุดนิทรรศการ คือ มุมที่เขียนงาน เอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งที่เขียนต้นฉบับนิยายเสน่หามนตรา ที่เป็นลายมือของผมเองที่จะต้องเก็บไว้ให้หมด ดังนั้น จะไม่มีใครมาพูดได้ว่าไปจ้างใครมาเขียนนิยาย ส่วนเล่ม 2 ที่จะเขียนนั้นคงไม่ใช่นิยาย แต่จะเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการเข้ามาแก้ไขปัญหาที่น่าน โดยเฉพาะการทวงคืนผืนป่า แต่เมื่อทำงานสำเร็จแล้วจึงได้ลงมือเขียนเพื่อถ่ายทอดได้ว่าทำสำเร็จในรูปแบบอย่างไร
ความสำเร็จ คือ การคืนผืนป่าได้อย่างถาวรโดยที่ไม่มีการบุกรุก หรือตัดไม้ถางป่ากันอีก วัดได้เป็นตัวเลขเลย มีผืนป่าที่มีต้นไม่สูงๆ กลับคืนมา มีที่ยึดน้ำ ยึดดินได้ โดยเราต้องเห็นทิศทางว่าคืนจริงแล้ว เราจะเห็นทิศทางชนะแล้ว ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก
ทวงคืนผืนป่าในจังหวัดน่าน
มาเมืองน่าน ตั้งใจจะมาทำห้องสมุดเล็กๆ ได้มาเป็นประธานเปิดห้องสมุดที่โรงเรียนใน อ.แม่จริม จ.น่าน เพียงแค่คืนเดียว ถึงกับมัดใจต้องเสน่หาล้านนาจนมาเป็นผู้พิทักษ์ และทวงคืนผืนป่าจนเวลาผ่านไป 6-7 ปี ชีวิตเป็นแบบนี้ได้อย่างไร ความตั้งใจขณะนี้ต้องใช้ชีวิต และเวลาอยู่ที่น่านมากขึ้น ในเมื่อโจทย์ที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หรือยังทำไม่สำเร็จ โดยขณะนี้แบงก์ก็ดีขึ้นมากแล้ว ผู้บริหารรุ่นใหม่ๆ ก็สามารถทำงานได้ดี บริหารแบงก์ให้เติบโตอย่างมั่นคง ถึงแม้ว่าปัจจุบันใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยที่น่านจะใช้ชีวิตประมาณ 40% แต่ก็สามารถทำงานต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้ เพราะได้วางระบบต่างๆ ที่เอื้อต่อการทำงานไว้หมดแล้ว มีโต๊ะทำงาน มีห้องประชุม มีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ครบ
สำหรับชีวิตโดยทั่วไปที่น่านจะทำงานเกี่ยวกับป่าไม้เป็นหลัก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจากการที่ชาวบ้านไม่รู้จะทำมาหากินอะไร คนจำนวนมากของประเทศนี้ไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพอกินได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงขออุทิศตนในการทวงผืนป่าเมืองน่านคืน โดยใช้ความรู้ที่สะสมจากการเป็นนายแบงก์มาบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนที่นี่ เมื่อทุนนิยมทำให้ป่าหมดไป ก็จำเป็นต้องใช้ทุนนิยมในการแก้ปัญหา เป็นโลกของทุนนิยม ความต้องการของสินค้าจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่คนเสนอ อยู่ที่ปลายทางอีกซีกโลก นี่คือความเป็นจริงของทุนนิยม เมื่อมีความต้องการในตลาดโลกแล้ว ใครก็ตามที่หาของมาได้ก็จะได้รางวัล ดังนั้น การทำลายป่าของประชาชน จ.น่าน ต้องการที่จะปลูกข้าวโพดเพื่อนำไปขายให้แก่นายทุน รู้อย่างเดียวว่าถ้าปลูกแล้วจะมีคนมาซื้อแล้ว มีเงินใช้ชีวิตก็จะดีขึ้น คิดอยู่แค่นั้นจริงๆ เป็นระบบทุนนิยม การตลาดทั้งโลก ซึ่งคนที่เล่นเป็นก็จะรวย คนที่เล่นไม่รู้เรื่องก็อยู่ปลายแถว
ทั้งนี้ ปัญหาที่เป็น และเห็นอยู่ต่อการที่เราสูญเสีย 25% ของป่าสงวนที่ จ.น่าน นี้ไป เราสูญเสียป่าที่เป็นต้นไม้ใหญ่ๆ ที่ลงรากลึก ที่รากจะไปยึดน้ำ และผิวดินเอาไว้ได้ สะท้อนความล้มเหลวของการจัดการ ส่วนหนึ่งมาจากการทำมาหากินของประชาชนในจังหวัดน่าน นายทุนบุกรุกป่าน้อยกว่าชาวบ้าน ที่เป็นผู้บุกรุกส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ใน จ.น่าน ที่ไม่มีทางเลือกในการทำมาหากิน จากป่า 100% มาเหลือ 75% ส่วนใหญ่เกิดขึ้น 10 ปีที่ผ่านมา 10 ปีที่ป่าต้นน้ำ จ.น่าน ถูกละเลยโดยสิ้นเชิงจากฝ่ายบริหารจัดการของประเทศไทยมองไม่เห็น ไม่เคยสนใจไปดูแล นโยบายที่ประกาศในรัฐสภาไม่มีใครพูดถึงเลย ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ที่จะพูดถึงการรักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งสำหรับ จ.น่าน เป็นประเด็นระบบเศรษฐกิจ คือ ชาวไร่ ชาวบ้าน ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร มันก็เหมือนภาพสะท้อนใหญ่ของประเทศ
“ชีวิตผมเกิดมาไม่เคยมีเกษียณต้องทำงานรับใช้ไปตลอดชาติ ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะ และช่วงชีวิตเวลาที่จะได้รับใช้อะไร และหวังว่าบ้านเจ้าสัวจะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของชีวิตที่จะอยู่เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ท้องถิ่น สังคมโดยรวม และประเทศชาติต่อไป”