“มะเมี๊ยะ เป๋นสาวแม่ก้า คนพม่า เมืองมะละแมง
งามล้ำ เหมือนเดือนส่องแสง คนมาแย่ง หลงฮักสาว
มะเมี๊ยะ บ่ยอมฮักไผ มอบใจ๋ ฮื้อหนุ่มเจื้อเจ้า
เป๋นลูก อุปราชท้าว เจียงใหม่
แต่เมื่อ เจ้าชาย จบก๋าน ศึก ษา
จ๋ำต้อง ลาจาก มะเมี๊ยะไป
เหมือนโดน มีดสับ ดาบฟัน หัวใจ๋
ปลอมเป๋น ป้อจาย หนีตามมา
เจ้าชายเป๋นราชบุตร แต่สุด ตี้ฮักเป๋นพม่า
ผิดประเพณี สืบมา ต้องร้าง ลา แยกทาง
วันตี้ต้อง ส่งคืนบ้านนาง เจ้าชาย ก็จัดขบวนช้าง
ไปส่งนาง คืน ทั้งน้ำตา
มะเมี๊ยะ ตรอมใจ๋ อาลัย ขื่น ขม
ถวาย บังคม ทูล ลา
สยาย ผมลง เจ๊ดบาท บา ทา
ขอลา ไปก่อน แล้วจ้าดนี้
เจ้าชายก็ตรอม ใจ๋ตาย มะเมี๊ยะเลยไป บวชชี
ความฮัก มักเป๋นเช่นนี้ แล เฮย”
เนื้อเพลง “มะเมี๊ยะ”ของ จรัล มโนเพชร ได้นำความรักอมตะเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อน มาถ่ายทอดให้รำลึกถึงความสะเทือนใจในครั้งนั้นอีกครั้งหนึ่ง ไม่เพียงแต่ชาวล้านนาเท่านั้นที่ต้องเสียน้ำตากับเรื่องนี้ แต่คนทั่วไปที่ได้ฟังเรื่อง ก็ต้องสะเทือนใจกับความรักบริสุทธิ์ที่ถูกครอบงำอยู่ใต้กฎเกณฑ์ทางการเมือง
เรื่องเริ่มขึ้นในปี ๒๔๔๑ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐ อุปราชนครเชียงใหม่ ได้ส่งลูกชายคนโตที่อยู่ในอันดับ ๓ ที่จะได้ครองนครเชียงใหม่ คือ “เจ้าน้อย” ศุขเกษม ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเซ็นต์แพทริก อันเป็นโรงเรียนคาธอลิคของอังกฤษ ที่เมืองมะละแหม่ง ทั้งนี้ก็หวังจะได้ภาษาไว้ติดต่อค้าขายกับอังกฤษที่เข้าครอบครองพม่า นัยว่าการส่งไปครั้งนี้ต้องแอบส่งไปอย่างเงียบๆ ไม่ได้เปิดเผยให้ทางกรุงเทพฯซึ่งปกครองเชียงใหม่ได้ล่วงรู้ ขณะนั้นอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งพระเจ้าอินทวโลรสสุริยวงศ์ ผู้เป็นเจ้าลุงของเจ้าน้อย เป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และเจ้าดารารัศมี ขนิษฐาของเจ้าอินทวโลรส ได้ถวายตัวมาเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่เมืองมะละแหม่งนั้น เจ้าน้อย หนุ่มรูปงาม ได้พบรักกับสาวพม่าผู้งามบาดใจ หล่อนชื่อ มะเมี๊ยะ เป็นแม่ค้าขายบุหรี่มวนโต ซึ่งเป็นบุหรี่พื้นเมืองอยู่ในตลาดใกล้บ้าน หลังจากมีความสัมพันธ์กันไม่นาน ทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยาด้วยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ฝ่ายมะเมี๊ยะ
ระหว่างนั้นทั้งคู่ก็จะไปทำบุญตักบาตรร่วมกันเป็นประจำ และ ณ วัดไจ้ตะหลั่น ที่เมืองมะละแหม่ง ทั้งสองได้สาบานต่อกันว่า จะรักกันตลอดไปไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรัก ก็ขอให้ผู้นั้นทุกข์ทรมานใจจนอายุสั้น
ในปี ๒๔๔๕ เจ้าน้อยสำเร็จการศึกษา ต้องเดินทางกลับนครเชียงใหม่ การจะนำมะเมี๊ยะกลับมาด้วยโดยที่ยังไม่ได้บอกกล่าวกับเจ้าพ่อเจ้าแม่นั้น เจ้าน้อยเกรงจะมีปัญหา จึงให้มะเมี๊ยะปลอมตัวเป็นชาย อ้างว่าเป็นเพื่อนนักเรียนขอติดตามมาเยี่ยมญาติที่เชียงใหม่
การมาของมะเมี๊ยะไม่อาจปิดบังท้าวบุญสูง พี่เลี้ยงที่ดูแลเจ้าน้อยมาตั้งแต่เด็ก และนำขบวนคนไปรับถึงชายแดน แต่ท้าวบุญสูงก็กำชับทุกคนในขบวนว่า ห้ามพูดเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ใครแพร่งพรายจะมีโทษถึงตาย
เจ้าน้อยนำมะเมี๊ยะมาซ่อนไว้ในเรือนหลังเล็กภายในคุ้มอุปราชซึ่งเป็นที่พักของตน แต่พอไปเข้าเฝ้าเจ้าพ่อเจ้าแม่ เจ้าแก้วนวรัฐกับแม่เจ้าจามรีมหาเทวี ก็บอกให้เจ้าน้อยรับรู้ว่า ได้หมั้น เจ้าหญิงบัวนวล ธิดาของเจ้าสุริยวงศ์ (คำตัน สิโลรส) ให้เป็นคู่หมั้นของเจ้าน้อย ตั้งแต่ปีที่เจ้าน้อยเดินทางไปเรียนที่เมืองพม่าแล้ว ทำให้เจ้าน้อยอึดอัดใจพูดอะไรไม่ออก
หลังจากเคร่งเครียดกับเรื่องนี้อยู่หลายวัน เจ้าน้อยก็ตัดสินใจนำมะเมี๊ยะเข้าเฝ้าเจ้าพ่อเจ้าแม่ และสารภาพเรื่องทั้งหมดให้ทราบว่า มะเมี๊ยะเป็นหญิงคนรักที่ไม่อาจทอดทิ้งกันได้ เจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีก็ไม่ได้ว่ากล่าวให้ลูกชายเสียใจ แต่ก็มีท่าทีว่าไม่ยอมรับมะเมี๊ยะเป็นลูกสะใภ้
ส่วนเจ้าหญิงบัวนวล คู่หมั้นของเจ้าน้อย ซึ่งเป็นหญิงเก่งทางด้านขี่ม้า และช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัวเจ้าแก้วนวรัฐอยู่ในขณะนั้น เมื่อรู้ว่าเจ้าน้อยพาเมียมาจากมะละแหม่งแล้ว ก็ขอถอนหมั้นเปิดทางให้เจ้าน้อย ไม่เข้าร่วมเป็นปัญหาด้วย
แม้เรื่องของเจ้าน้อยกับมะเมี๊ยะจะเป็นเรื่องห้ามพูด แต่ก็กระซิบกันจนรู้ไปทั่วว่า เจ้าน้อยศุขเกษม ซึ่งคาดว่าจะเป็นเจ้าหลวงในอนาคต ได้พาสาวพม่าแม่ค้าจากเมืองมะละแหม่งมาเป็นเมียเสียแล้ว เรื่องนี้ยังได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าอินทวโลรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และด้วยความวิตกเป็นอย่างมาก จึงได้เรียกเจ้าแก้วนวรัฐพร้อมด้วยเจ้านายในราชวงศ์เชียงใหม่ไปปรึกษา เห็นว่ามะเมี๊ยะเป็นคนในบังคับอังกฤษ ซึ่งกำลังมีปัญหากับสยามในเรื่องดินแดน โดยเฉพาะดินแดนที่อุดมไปด้วยป่าไม้สักเช่นเชียงใหม่ที่อังกฤษต้องการ เมื่อคนในบังคับของตนมาเป็นสะใภ้ของเจ้าอุปราช กงสุลอังกฤษอาจจะถือโอกาสเข้าแทรกแซง อีกทั้งทางกรุงเทพฯคงจะยอมไม่ได้ในเรื่องนี้ พระราชชายา เจ้าดารารัศมีอาจจะเรียกตัวเจ้าน้อยลงไปอยู่กรุงเทพฯก็ได้ จึงควรจะจัดการเสียก่อนที่เรื่องจะขยายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นความกันขึ้นมา อังกฤษจะยื่นมือเข้ามาทันที
ด้วยเหตุนี้ เจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีจึงเรียกเจ้าน้อยไปพบ อธิบายให้ฟังถึงปัญหาที่จะตามมาจากเรื่องของมะเมี๊ยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่รับกันไม่ไหวทั้งนั้น แม้เจ้าน้อยจะตัดใจจากมะเมี๊ยะไม่ได้ แต่ก็จำนนต่อเหตุผลที่จะโต้แย้งได้
จากนั้นเจ้าน้อยก็ถูกนำตัวไปเข้าพิธีทางไสยศาสตร์ มีพระภิกษุมาปัดเป่าขับไล่ผีสางและมนตร์ดำที่ทำให้เจ้าน้อยลุ่มหลงในความรัก ขณะเดียวกันที่คุ้มของเจ้าน้อย ก็มีชาวพม่าชายหญิง ๓-๔ คนไปเกลี้ยกล่อมมะเมี๊ยะ ให้เห็นแก่ความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าน้อยและเจ้าพ่อเจ้าแม่ รวมทั้งบ้านเมืองเชียงใหม่ และหากเจ้าน้อยถูกเรียกตัวไปอยู่กรุงเทพฯ มะเมี๊ยะก็อาจจะมีอันตรายได้ ขอให้กลับไปรอเจ้าน้อยที่เมืองมะละแหม่ง เมื่อปัญหาทางนี้คลี่คลายแล้ว เจ้าน้อยก็จะจัดการแก้ไขปัญหาเอง
คืนนั้นจึงเป็นคืนเศร้าของเจ้าน้อยและมะเมี๊ยะ ที่ตัดสินใจจะพรากจากกันชั่วระยะหนึ่ง ทั้งคู่ต่างยืนยันที่จะซื่อสัตย์ต่อคำสาบานร่วมกัน ณ วัดไจ้ตะหลั่น
ในเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน ๒๔๔๖ ประชาชนชาวเวียงพิงค์ต่างหลั่งไหลไปที่ประตูหายยา เมื่อได้ทราบว่ามีขบวนช้างมารับมะเมี๊ยะเพื่อไปส่งเมืองมะละแหม่ง ทุกคนต่างชะเง้อรอดูการมาของมะเมี๊ยะที่ร่ำลือกันถึงความงาม ต่างเห็นใจและสงสารที่เธอยอมเสียสละพรากจากสวามีอันเป็นสุดที่รัก
มะเมี๊ยะในชุดแต่งกายของสาวพม่า ไม่ได้อยู่ในชุดผู้ชายเหมือนตอนมา ได้ปรากฏตัวเคียงข้างเจ้าน้อยศุขเกษมต่อฝูงชน ทั้งคู่ต่างไม่ปิดบังความหมองเศร้าที่มีน้ำตาอาบแก้ม และอาลัยอาวรณ์ไม่ยอมจากกันง่ายๆ จนท้าวบุญสูงผู้คุมขบวนไปส่งต้องเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า มะเมี๊ยะคุกเข่าลงสยายผมที่เกล้าไว้ออกเช็ดเท้าสามี แสดงความรักอาลัยครั้งสุดท้ายก่อนจะหักใจขึ้นช้างไป
เมื่อกลับไปถึงมะละแหม่ง มะเมี๊ยะได้มอบเงินที่เจ้าแก้วนวรัฐและแม่เจ้าจามรีประทานให้เธอแก่พ่อแม่ แล้วเฝ้ารอเจ้าน้อยที่จะมาหาตามสัญญา จนเวลาผ่านไป ๓ เดือนกว่าก็ยังไม่มีวี่แววของสามี มะเมี๊ยะจึงบวชเป็นชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ระหว่างรอคอย ส่วนเจ้าน้อยถูกเจ้าดารารัศมีเรียกตัวลงไปรับราชการที่กรุงเทพฯ ได้รับยศเป็นนายร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศล และได้แต่งงานกับเจ้าหญิงบัวชุม สาวในตำหนักของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีนั่นเอง
เมื่อแม่ชีมะเมี๊ยะได้ข่าวว่าเจ้าน้อยแต่งงานแล้วและกลับมาอยู่เชียงใหม่ เธอจึงเดินทางรอนแรมมาหา แต่ไม่ได้มาทวงรัก หากจะมาถอนคำสาบานที่ให้ไว้ต่อกัน เพื่อไม่ให้เจ้าน้อยต้องรับกรรมตามคำสาบาน แต่หลังการแต่งงานเจ้าน้อยก็หมกมุ่นอยู่กับการใช้สุราดับกลุ้ม และใจไม่แข็งพอที่จะพบแม่ชีมะเมี๊ยะ ได้แต่ส่งท้าวบุญสูงนำเงิน ๘๐๐ บาทมามอบให้แม่ชีเพื่อทำบุญ และถอดแหวนทับทิมประจำตัวให้มะเมี๊ยะไปด้วย
การจากกันที่ประตูหายยาในวันมะเมี๊ยะกลับมะละแหม่ง จึงเป็นวันสุดท้ายที่ทั้งคู่ได้พบกัน หลังจากแต่งงานกับเจ้าหญิงบัวชุมได้เพียง ๖ ปี เจ้าน้อยศุขเกษมก็ถึงชีพิตักษัยใน พ.ศ.๒๔๕๖ ด้วยวัยเพียงแค่ ๓๓ ปี ส่วนมะเมี๊ยะครองเพศเป็นชีจนสิ้นอายุขัยในวัย ๗๕ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕
ความรักรันทดของเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมี๊ยะ เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปี แต่เป็นเรื่องที่เล่าขานเป็นตำนานมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว แสดงให้เห็นอานุภาพของความรัก ซึ่งเป็นเรื่องอิสรเสรีของหัวใจ ถ้าถูกครอบงำ กดดัน บีบบังคับเมื่อใด ก็จะเป็นเรื่องเศร้าสะเทือนใจเช่นนี้