ศปมผ.รับรอง CPF ไม่ได้ใช้แรงงานทาส ยันทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดี หอพักที่จัดหาให้สะอาด และปลอดภัย และได้ยินว่าแต่ละคนมีเงินเก็บส่งกลับบ้านเพื่อซื้อที่อยู่ที่อาศัยให้คนที่บ้านได้ สะท้อนให้เห็นว่า CPF ดูแลแรงงานทั้งไทย และต่างด้าวได้มาตรฐานสากล
ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันตรวจสอบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และระบบตรวจสอบย้อนกลับของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา หนึ่งในสถานประกอบการของซีพีเอฟที่จัดจ้างแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาร่วม 2,300 คน รวมทั้งดูระบบตรวจสอบย้อนกลับความปลอดภัยของอาหาร และการดูแลแรงงาน
นาวาโทนฤทธิ์ พิชิตชโลธร หัวหน้าแผนกประชาสนเทศ กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ที่ ศปมผ. พร้อมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครราชสีมา ร่วมเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา ของซีพีเอฟ เพื่อดูระบบตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพ และความปลอดภัยอาหาร และการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานต่างด้าวของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อร่วมกันดูแล และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และสาธารณชน ว่า ภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีการดูแลความเป็นอยู่แรงงานทั้งคนไทย และแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรม
“การมาเยี่ยมชมการดูแลแรงงานต่างด้าวที่โรงงานแปรรูปไก่นครราชสีมา ซีพีเอฟ เป็นการขยายผลจากการตรวจสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับ และการดูแลแรงงานของโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวของภาคเอกชนไทยได้มาตรฐานสากล ไม่มีการใช้แรงงานที่ไม่ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ใช้แรงงานเด็ก แรงงานทาส”
นาวาโทนฤทธิ์ กล่าวต่อว่า ได้เห็นแรงงานต่างด้าวในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่โคราชทำงานร่วมกับแรงงานไทยได้อย่างราบรื่น มีความเป็นอยู่ที่ดี หอพักที่ซีพีเอฟจัดหาให้สะอาด และปลอดภัย ได้ยินว่า แต่ละคนมีเงินเก็บส่งกลับบ้านเพื่อซื้อที่อยู่ที่อาศัยให้คนที่บ้านได้ สะท้อนให้เห็นว่า ซีพีเอฟดูแลแรงงานทั้งไทย และต่างด้าวได้มาตรฐานสากล และที่สำคัญ ซีพีเอฟยังมีระบบตรวจสอบย้อนกลับทั้งเรื่องความปลอดภัยของอาหาร และการดูแลแรงงานที่เชื่อถือได้
นายอภิชาติ แก้วกิ่ง รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโรงงานแปรรูปไก่นครราชสีมา ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีความมุ่งมั่นด้านการดูแลแรงงานต่างด้าวของซีพีเอฟได้มาตรฐานสากล บริษัทฯ จัดจ้างแรงงานต่างด้าวโดยตรงผ่านเอ็มโอยูการจ้างแรงงานต่างด้าวที่รัฐบาลไทยลงนามกับประเทศภาคี แรงงานต่างด้าวทุกคนเป็นลูกจ้างของบริษัท ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ และการดูแลอย่างเป็นธรรม เทียบเท่าแรงงานไทยทุกประการ ตั้งแต่ค่าจ้าง ค่าทักษะฝีมือแรงงาน การปรับค่าจ้างประจำปี รวมถึงสวัสดิการที่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น ประกันสังคม ค่ารักษาพยาบาล ประกันอุบัติเหตุ การลาพักร้อน การทำงานล่วงเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามมาตรฐานสากล เป็นต้น
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังนำยุทธศาสตร์ 3P (3พี) มาใช้ในการบริหารดูแลแรงงานทั่วทั้งองค์กร ซึ่งประกอบด้วย P ตัวแรก คือ Policy (นโยบาย) การกำหนดนโยบายด้านแรงงานใช้ทั่วทั้งองค์กรที่ยึดมาตรฐานสากล ตามหลักสิทธิมนุษยชน และต่อต้านการค้ามนุษย์ และแรงงานทาส เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม ส่วน P ที่ 2 คือ Practice (การปฏิบัติ) เป็นการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานทั่วทั้งองค์กร สำหรับ P ที่ 3 คือ Partnership (การให้ความร่วมมือ) เป็นการให้ความร่วมมือ และบูรณาการทุกภาคส่วนแก่หน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงแรงงาน NGO และลูกค้า ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการดูแลแรงงานขององค์กรเป็นไปตามเป้าหมายขององค์กร
“การเปิดโรงงานให้ ศปมผ. หน่วยงานราชการ เอ็นจีโอ เข้ามาตรวจสอบการดูแลแรงงานของ ซีพีเอฟ สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทมีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ที่ผ่านมา ลูกค้ารายใหญ่จากต่างประเทศเดินทางมาประเมินการดูแลแรงงานของบริษัทเองโดยไม่แจ้งล่วงหน้า (Knock door audit) ซึ่งผลประเมินออกมาดี”
จากการดำเนินการด้านแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง ส่งผลให้ซีพีเอฟได้รับเกียรติบัตรยกย่องจากกระทรวงแรงงาน ในฐานะองค์กรต้นแบบในการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานต่างด้าว ต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิก DJSI Listed Company ในกลุ่ม DJSI Emerging Markets โดยหัวข้อด้านการปฏิบัติต่อแรงงาน เป็น 1 ใน 8 หัวข้อที่ซีพีเอฟได้คะแนนการประเมินที่โดดเด่นสูงกว่า 80 คะแนน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการดูแลบุคลากรทุกระดับยึดหลักตามมาตรฐานสากล และร่วมยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลกต่อไป