คลังแจง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.พ.59 หลัง ครม.เห็นชอบ กม.ลูกภาษีมรดก โดยกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องแจ้งเสียภาษีภายใน 15 วัน นับจากวันรับมรดก และสามารถยื่นผ่อนชำระได้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก 2558 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 หลังจากเมื่อวานนี้ (12 ม.ค.) ครม.เห็นชอบกฎหมายลูกออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกา 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวง 6 ฉบับ ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการจัดเก็บภาษี โดยการจัดเก็บจากฐานทรัพย์สิน (หุ้น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร หุ้นกู้) อสังหาริมทรัพย์ เงินฝาก ยานพาหนะ สำหรับการรับมรดกมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท เมื่อแบ่งมรดกแล้วส่วนที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท โดยผ่อนปรนภาษีกับคู่สมรส บุพการี และบุตร เสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ส่วนบุคคลอื่นเสียอัตราร้อยละ 10
กฎหมายลูกทั้งหมดกำหนดรายละเอียดเพิ่มว่า สำหรับการยกเว้นภาษี ได้แก่ กรณีเจ้าของมรดกต้องการใช้ประโยชน์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือสาธารณประโยชน์ โดยสรรพากรจะติดตามการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 9 ปี รวมถึงส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชน วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิ หรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลัง และหากไม่ทำตามวัตถุประสงค์การมอบให้ต้องเสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม
กรณีการรอนสิทธิ เช่น พ่อ แม่ให้ เช่น ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์แก่บุคคลอื่นเป็นเวลา 30 ปี แต่เสียชีวิตช่วง 5 ปีแรก ระยะเวลาที่เหลืออีก 25 ปี บุตรผู้รับมรดกต้องเสียภาษีประจำปี แต่คู่สัญญาต้องใช้ประโยชน์ตามสัญญาเช่าให้ครบตามกำหนด กระทรวงการคลังกำหนดรายละเอียดเพิ่มในการให้ส่วนลดการเสียภาษีของบุตรหลาน ส่วนการประเมินมูลค่าทรัพย์สินจากมรดก หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ใช้ราคาประเมินของราชการ หากเป็นหุ้น ใช้มูลค่าทางบัญชี พันธบัตร หุ้นกู้ใช้ราคาจำหน่ายครั้งแรก ยานพาหนะยึดราคาตลาด
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องแจ้งเสียภาษีภายใน 15 วัน นับจากวันรับมรดก และสามารถยื่นผ่อนชำระภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี และยื่นคำร้องผ่อนชำระแต่ละงวด จำนวนปีตามแบบที่กำหนด กรณีชำระภายใน 2 ปี ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระเกิน 2 ปี ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน หากผิดนัดชำระจะหมดสิทธิผ่อนชำระตามกำหนด รัฐบาลจึงส่งร่างกฎหมายทั้งหมดให้กฤษฎีกาพิจาณาเพิ่ม
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการจัดเก็บรายได้ 3 เดือนแรกปีงบประมาณ (ต.ค.-ธ.ค.58) มียอดรายได้ภาษี 581,306 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 64,545 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากเงินที่ได้จากการประมูล 4จี คลื่นความถี่ 900, 1,800 MHz จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) งวดแรก วงเงิน 40,300 ล้านบาท