แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปรับแผนธุรกิจหันรุกตลาดโรงแรม ศูนย์การค้า หลังตลาดที่อยู่อาศัยในประเทศชะลอตัว พร้อมเดินหน้าขยายการลงทุนในต่างประเทศ ล่าสุด ซื้ออพาร์ตเมนต์มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ที่ซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐอเมริกา เผยตั้งงบ 1.5 หมื่นล้านบาท ลงทุนในต่างประเทศ ด้านบิ๊ก แอล.พี.เอ็น.ฯ เผยภารกิจเร่งด่วนรับปีวอก เผย 4 เดือนแรก วางเป้าโอนคอนโดมิเนียมหมื่นล้านบาท หวังมาตรการภาษีอสังหาฯ หนุนตลาดไตรมาสแรกคึกคัก ฟันธงอานิสงส์มาตรการรัฐช่วยระบายสต๊อกในระบบ เชื่อครึ่งปีหลังเอกชนแห่ลงทุนโครงการใหม่ ดันซัปพลายทั้งปีแตะ 70,000 ยูนิต เติบโตจากปีที่ผ่านมากว่า 20% พร้อมปรับกลยุทธ์ย่อไซส์พัฒนาโครงการ เพื่อปรับให้กับภาวะเศรษฐกิจ ด้านบริษัทเอสซีฯ รับต้นปี ปิดการขาย 2 โครงการหรู
นายอนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ยังมีสินค้าใหม่ๆ ที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่อสังหาฯ ถือว่าเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม เฉพาะทำเล ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญไม่อยากให้รัฐบาลออกมาตรการรัฐมาช่วยเหลือมากนัก เพราะจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทุกครั้ง เนื่องจากจะทำให้ลูกค้าที่จะโอนกรรมสิทธิ์ต่างชะลอการโอนออกไปก่อน เพื่อรอผลมาตรการของรัฐบังคับใช้
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีวงจรขึ้น-ลง ดังนั้น การทำธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ และสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ มีเฉพาะตลาดบ้านไฮเอนด์ที่ยังเติบโตได้ บริษัทจึงได้หันไปขยายการลงทุนโรงแรม และห้างสรรพสินค้าตามเมืองท่องเที่ยว และหัวเมืองหลัก
โดยล่าสุด เตรียมเปิดศูนย์การค้า “เทอมินัล 21” ที่พัทยา หลังจากนั้น เตรียมเปิดที่ภูเก็ต นครราชสีมา หาดใหญ่ และขอนแก่นอีกด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงแรมเพิ่มเติมในอีกหลายจังหวัด เนื่องจากที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มมากขึ้น นับจากมีสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งสายการบินเหล่านี้นำนักท่องเที่ยวระดับกลาง-ล่างเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นปีละจำนวนมาก ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ต้องการที่พักในระดับปานกลาง
นอกจากขยายการลงทุนโรงแรม และศูนย์การค้าในประเทศแล้ว แลนด์ฯ ยังขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยล่าสุด ใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ซื้ออพาร์ตเมนต์ในซิลิคอน วัลเลย์ ซานฟรานซิโก สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์การธุรกิจด้านไอที และนับเป็นแหล่งงานขนาดใหญ่โดยอาคารดังกล่าวถือเป็นอาคารที่ 4 ที่บริษัทซื้อมา และทำการปรับปรุง (รีโนเวต) ใหม่ ใช้เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท และเปิดให้เช่า หากขายได้กำไรบริษัทก็ขายยกอาคาร โดยที่ผ่านมาขายไปแล้ว 1 อาคาร ซึ่งทั้ง 4 อาคาร มูลค่าลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท รวมถึงขยายการลงทุนไปยังเมืองอื่นๆ ที่มีศักยภาพ และให้ผลตอบแทนที่ดี เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมีแผนที่จะเข้าไปลงทุนในจีนอีกครั้งซึ่งบริษัทวางงบลงทุนในต่างประเทศราว 15,000 ล้านบาท
ล่าสุด บริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชินวัตร และโฮมบายเออร์ไกด์ เปิดตัวหลักสูตรอบรมระยะสั้น “เดอะ เน็กซ์ เรียล” เพื่อสร้างนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ โดยมุ่งหวังที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดทักษะประสบการณ์จากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ มั่นใจว่าหลักสูตร “เดอะ เน็กซ์ เรียล” จะช่วยให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกิดแนวคิด และมุมมองในการประกอบธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น
“ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่มีธุรกิจเกิดใหม่ มีเพียงวิธีคิดใหม่แค่นั้นเอง เช่น ธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจดั้งเดิมมีมานาน แต่ใช้บริหารวิธีคิดใหม่ หลายคนสงสัยว่าทำไมเราบริหารโรงแรมฯ ใช้คนเพียง 100 คน บริหารห้องพัก 500 ห้องได้ โรงแรมทั่วไปใช้ 800 คนบริหาร ซึ่งทำให้ลดคอร์สได้ค่อนข้างมาก เพราะใช้วิธีการจ้างเอาต์ซอร์สทั้งหมด และโรงแรมไม่ทำห้องจัดเลี้ยง ที่มีค่าโอเวอร์เฮดสูงมาก” นายอนันต์ กล่าว
LPN เร่งโอนสต๊อกหมื่นล้านรับมาตรการ
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนธุรกิจปี 2559 ว่า มีแผนจะเปิด 10 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้ามีรายได้จากการขาย 17,600 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% ขณะที่เป้ารายได้ปี 59 อยู่ที่ 17,600 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้า 30% โดยตลอดทั้งปี 58 บริษัทมีการเปิด 7 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภารกิจหลักในปีใหม่ โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) คือ การเร่งสร้างรายได้จากการโอนรวม 10,000 ล้านบาท โดยบริษัทมียอดขายรอรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก) แล้ว 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาสแรก 9,000 ล้านบาท ที่เหลือ 1,000 ล้านบาท จะเป็นการไปรับรู้รายได้จากการโอนโครงการใหม่ที่จะสร้างเสร็จในไตรมาสแรก ทั้งนี้ การเร่งโอนในไตรมาสแรกเพื่อให้สอดรับต่อมาตรการของภาครัฐที่จะสิ้นสุดลงในอีก 4 เดือนข้างหน้า
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมา ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐที่เริ่มตั้งแต่ในปลายปีที่ผ่านมา ยังไม่เห็นผลชัดเจนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมามีช่วงอายุคาบเกี่ยวระหว่างปี ทำให้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผลจากมาตรการไม่ชัดเจนมาก แต่เชื่อมั่น 4 เดือนที่เหลือของมาตรการจะส่งผลต่อการเร่งการโอน ช่วยให้ตลาดคึกคักมากขึ้น และเชื่อว่าจะทำให้บริษัทมียอดรายได้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้”
นอกจากนี้ LPN เป้าหมายหลักที่ต้องเร่งดำเนินการในปีนี้อีก 2 เรื่อง คือ การเร่งงานก่อสร้างโครงการซูเปอร์ลักชัวร์รี ในซอยสุขุมวิท 24 ให้แล้วเสร็จ และการเปิดให้บริการ และพัฒนาโครงการคอมมูนิตีมอลล์ในโครงการต่างๆ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้จากค่าเช่า และบริการ แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนคอมมูนิตีมอลล์ บริษัทจะพัฒนาเฉพาะในโครงการเพื่อรองรับลูกค้าเท่านั้น ไม่มีการแยกลงทุน หรือเปิดให้บริการคอมมูนิตีมอลล์แบบสแตนด์ อะโลน
ลดไซส์พัฒนาโครงการับตลาดขาลง
สำหรับแผนลงทุนในปี 59 จะเน้นโครงการใหม่เพิ่มมากกว่าในปีที่ผ่านมา แต่ยูนิตในการพัฒนาต่อโครงการจะลดลงเพื่อให้สอดคล้องต่อสภาพตลาดซึ่งยังอยู่ในช่วงขาลง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในช่วงไตรมาสแรกนี้ผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม และโครงการที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่จะมีการแข่งขันสูงมาก เพื่อเร่งระบายสต๊อกในมือออกไป ซึ่งหากในช่วงไตรมาสแรกนี้ผู้ประกอบการสามารถระบายสต๊อกออกไปได้มาก เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งจากการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น
“หากในช่วง 4 เดือนแรกนี้ผู้ประกอบการสามารถอาศัยมาตรการกระตุ้นด้านภาษีจากภาครัฐในการระบายสต๊อกในมือออกไปได้เยอะ จะทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังมีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก และเชื่อว่าจะส่งผลให้เกิดซัปพลายใหม่เข้ามสู่ตลาดในปีนี้มีโอกาสแตะหลัก 70,000 ยูนิต หรือขยายตัวจากปีนี้กว่า 20% จากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะมีซัปพลายใหม่เข้าสู่ตลาดที่ 50,000-60,000 ยูนิต หรือมีอัตราการขยายตัวที่ 10-15%”
SC รับต้นปีปิดการขาย 2 โครงการหรู
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ บอส SC ASSET มั่นใจการดำเนินงานปี 2558 รายได้รวมทั้งปีทะลุเป้า 13,900 ลบ. โดยช่วงโค้งสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ปิดการขาย 2 โครงการพร้อมกัน รวมมูลค่าโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท คือ โครงการกรานาดา ปิ่นเกล้า และโครงการแกรนด์บางกอก บูเลอวาร์ด ปิ่นเกล้า-เพชรเกษม ตอกย้ำความเป็นผู้นำบ้านหรู ราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป และเดินหน้าปีที่ 2 ตามโรดแมปแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อเติบโตอย่างคุณภาพ และยั่งยืน