xs
xsm
sm
md
lg

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด “DTAC” เจอมรสุมกระหน่ำรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โบรกฯ เผยแนวโน้ม DTAC หลังจากนี้อาจระส่ำหนัก เพราะพลาดการประมูลทั้ง 2 รอบ เหตุหลังจากปี 2018 คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทานจะหมดอายุลง ทำให้เหลือเพียงคลื่น 2100 MHz ทำให้จำนวนคลื่นที่มีไม่มากพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ขาดศักยภาพในการลงทุนตลาด 4G ซ้ำร้ายยังต้องแบกต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแล และต้นทุนค่าเสื่อมที่เพิ่มสูงขึ้น

นายศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์จากบริษัท หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET กล่าวว่า หลังจาก บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC พลาดการประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 2 รอบ โดยทางผู้บริหาร DTAC เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะพยายามลงทุน 4G ส่วนใหญ่บนคลื่น 2100 MHz ซึ่งมีสัญญาระยะยาว 11 ปี และส่วนที่เหลือที่จำเป็นจริงๆ จะลงบน 1800 MHz (สัญญาสัมปทาน) ขณะเดียวกัน DTAC จะไม่ลงทุนบนสัมปทานที่จะเกิดขึ้นหลังจากปี 2016 และจะพยายามร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อให้เกิดการประมูลคลื่นเพิ่มในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทาง MBKET มองว่า การขาดความสามารถในการลงทุนในตลาด 4G ของ DTAC ทำให้แนวโน้มเสียส่วนแบ่งการตลาดต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายที่ยังสูงต่อเนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลที่ไม่ลดลง ทำให้เกิดต้นทุนค่าเสื่อมที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูง และแนวโน้มต้องอุดหนุนค่าเครื่องต่อเนื่อง นอกจากนี้ การสูญเสียความสามารถในการลงทุนเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน DTAC จะลงทุน 4G บนคลื่น 1800 MHz กำลัง 15 MHz (ที่สัมปทานได้) และ 2100 MHz อีก 5 MHz (ใบอนุญาต) โดย DTAC ตั้งใจจะลงเงินส่วนใหญ่บนคลื่น 2100 MHz แต่ DTAC จะมี 4G ทั้งหมด 20 MHz โดยตั้งเป้าจะมี 4G ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 77 จังหวัด ภายในกลางปี 2016

ขณะเดียวกัน DTAC จะขยาย 3G บน 850 MHz (การสัมปทานเดิม) ให้เพิ่มเป็น 95% เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าผู้ใช้ส่วนใหญ่ ทำให้ไม่มีแผนจะลงทุนเพิ่มบนสัญญาสัมปทานหลังปี 2016 (มีข้อจำกัดการลงทุน) แม้ DTAC จะพยายามลงทุนส่วนใหญ่บนใบอนุญาต ซึ่ง MBKET มองว่า ไม่เพียงพอต่อความต้องการจากปริมาณคลื่นที่จำกัดมาก (4G เพียง 5 MHz ต่อความต้องการของผู้ใช้ทั่วประเทศที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) ในขณะที่การลงทุนในการสัมปทานคลื่นความถี่จะทำเพียงแค่ 1 ปี แต่คู่แข่งสำคัญอย่าง TRUE กลับประกาศการลงทุนเพิ่มกว่า 5 หมื่นล้านบาท และ ADVANC ประกาศว่าจะลุยสร้างโครงข่ายเต็มที่ (ในเฟสแรกไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท) แถมยังได้คลื่น 2100 MHz จาก TOT มาเพิ่มแม้พลาด 900 MHz ซึ่งประเมินว่า DTAC กำลังจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาด และจะมีผลประกอบการที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง

“หลังจากปี 2018 คลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้ระบบสัมปทานจะหมดอายุลง ทำให้ DTAC จะเหลือเพียงคลื่น 2100 MHz เท่านั้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สูงมากระยะกลางถึงยาวต่อการดำเนินงาน แต่หากมีการประมูลเกิดขึ้น DTAC จะต้องสู้ราคาที่สูงมากเพื่อจะอยู่ในเกม ซึ่งโอกาสของ DTAC ที่จะอยู่รอดได้คือ หากมีการประมูลคลื่นก่อน 2018 หรือสามารถเข้าถึงคลื่นอื่นๆ (ตามข่าวก่อนหน้าคือ พยายามทำ MVNO กับ CAT) ให้ได้ก่อนปี 2018 จะช่วยให้มีโอกาสฟื้นตัว”

อย่างไรก็ดี MBKET มองว่าน้ำหนักว่าจะเกิดขึ้นน้อยจากปัจจัยดังต่อไปนี้ เช่น คลื่นที่มีโอกาสจะประมูลก่อนปี 2018 คือ คลื่น 2600 MHz ที่ยังติดปัญหากับ MCOT เรื่องค่าชดเชย ขณะที่บอร์ดบริหารของ กสทช.ใกล้จะหมดวาระลงในปี 2017 และ คลื่น 20 MHz ที่พยายามจะทำ MVNO กับ CAT ยังติดอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานเดิมของ DTAC กับ CAT
กำลังโหลดความคิดเห็น