ผู้ว่าการ ธปท. ยืนยันไม่เปลี่ยนแปลงการใช้เป้าหมายเงินเฟ้อกำหนดนโนบายการเงิน เนื่องจากยังมีความเหมาะสม แม้เงินเฟ้อจะต่ำตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แต่ยอมรับว่าอาจจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้มากขึ้น เตรียมเสนอกรอบเงินเฟ้อปี 59 เสนอให้ ครม.ชี้ขาด โดยเน้นเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางมากกว่าระยะสั้น และกำลังพยายามเพิ่มการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้การทำนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “BOT Press Trip” โดยระบุว่า ธปท. ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบนโยบายการเงินที่ใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก หรือ Inflation Targeting แต่จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กรอบนโยบายเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงมีต่ำ ทำให้ ธปท.สามารถให้น้ำหนักกับการดูแลด้านอื่นๆ มากขึ้น เช่น การดูแลอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ โดยเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2559 กำลังอยู่ระหว่างการบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เน้นเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางมากกว่าระยะสั้น นอกจากนี้ ธปท.จะพยายามเพิ่มการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้การทำนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ธปท.ยืนยันว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงิน โดยยังใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลัก แม้ว่าขณะนี้เงินเฟ้อจะต่ำตามสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับลดลง แต่เชื่อว่าเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเงินเฟ้อมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งแรกปี 2559 ดังนั้น ธปท. ต้องดูแลให้การใช้เป้าหมายเงินเฟ้อมีประสิทธิภาพตามที่ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปดีขึ้นกว่าปี 2558 แต่ไม่กระจายตัวแบบทั่วถึง โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น รวมถึงมาตรการการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน และการบริโภคภายในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวดีก็ตาม แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง เนื่องจากการเติบโตเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั้งจีน และเอเชียขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวระดับต่ำ และราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะปัญหาภัยแล้งยังคงมีอยู่ และรุนแรงขึ้นในปีหน้า เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับต่ำในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันยังต่ำกดดันราคาพืชผลทางเกษตรลดลงต่อเนื่อง
ส่วนผลกระทบเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้าย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นนั้น กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่อาจมีความเสี่ยงด้านต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ทำให้เงินต่างชาติอาจจะไหลกลับไปสหรัฐอเมริกา แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่ง และความอ่อนไหวของแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทยมีผลกระทบน้อย เพราะมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่ำ มีเพียง 1 ใน 3 ของทุนสำรองระหว่างประเทศ แตกต่างจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ รวมทั้งการถือครองพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. และพันธบัตรัฐวิสาหกิจของต่างชาติมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8-9 แตกต่างจากบางประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 ดังนั้น หากต่างชาติจะขายคืนพันธบัตรก็มีเงินเพียงพอในการรองรับการถอนคืนพันธบัตร