โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา
Chief Economist
บลจ.บัวหลวง
ภาพใหญ่ของโลก
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายประเทศต่างต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่ดีดตัวสูงขึ้น ขณะนั้นหลายประเทศเปลี่ยนนโยบายการเงินจากเดิมที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate Regime) มาเป็นนโยบายที่กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting Policy) ตามอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้ Inflation Targeting ตั้งแต่ปี 2000) เพื่อดึงเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ในวันนี้ภาวะเงินเฟ้อกลับไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลอีกต่อไปในเมื่อทำอย่างไร “เงินก็ไม่เฟ้อ” สักที ตรงกับที่ พอล ครุกแมน เคยบอกเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วว่า “นี่ไม่ใช่เวลาจะมากลัวเรื่องเงินเฟ้อแบบ Hyper Inflation จากผลของ QE เพราะสิ่งที่เราต้องกลัวกันคือ เงินฝืด ไม่ใช่เงินเฟ้อ”
นับตั้งแต่ปี 2008 หรือวิกฤต Sub Prime เป็นต้นมา ธนาคารกลางใหญ่ในโลกไม่ว่าจะเป็น FED ของสหรัฐฯ ECB ของยุโรป หรือแม้กระทั่ง BOJ ของญี่ปุ่น ต่างอัดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินกันยกใหญ่ (QE) ซึ่งตามทฤษฎีนั้นควรจะส่งผลให้ระดับราคาปรับเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ (เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น) แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นว่าระดับราคาไม่มีทีท่าว่าจะเข้าเป้าหมายเงินเฟ้อ ซ้ำยังกลับดิ่งลงเรื่อยๆ (Price Level Slip) โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรปมีอัตราเงินเฟ้อยืนที่ราวๆ ร้อยละ 0.5-1.6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่มอาเซียนยืนอยู่ราวร้อยละ 4.0 จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ราวร้อยละ 9.0
ระดับราคาน้ำมันดึงเงินเฟ้อลงต่ำ
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน มิ.ย.สู่ 79.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือน พ.ย. หรือเกือบร้อยละ 30 ส่งผลต่อระดับราคาอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากราคาพลังงานคิดเป็นร้อยละ 10-15 ของการคิดอัตราเงินเฟ้อ เมื่อผนวกกับความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ดิ่งลงต่อเนื่องจากความต้องการที่ลดลงของจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่ ทำให้กดอัตราเงินเฟ้อโลกลงอีกราวร้อยละ 0.4
Disinflation Risk อัตราเงินเฟ้อคาดหมายทรงตัวต่ำทั่วโลก
5-yr Swap Rate ซึ่งสะท้อนอัตราเงินเฟ้อคาดหมาย (Expected Inflation) ได้ปรับลดลงในกลุ่ม Advanced Economies ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยูโรโซน หรือญี่ปุ่น ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่ผูกติดกับเงินเฟ้อหรือ Inflation-indexed Bonds ก็ดิ่งลงเช่นเดียวกัน
การปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อคาดหมายถือเป็นเรื่องใหญ่ของธนาคารกลาง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อคาดหมายเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายทางการเงิน และเป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่าทำไม Mario Draghi ประธาน ECB ต้องออกมาเรียกความมั่นใจกับตลาดว่า “จะใช้ทุกเครื่องมือที่มี เพื่อดันเงินเฟ้อขึ้นไปให้ได้” ภายหลังที่เงินเฟ้อชะลอต่ำมาอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ในเดือน ก.ย. 2557
Debt
เงินเฟ้อต่ำไม่ได้แย่เสียทีเดียว แต่ก็มีความเสี่ยง แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันจะไม่ต่ำจนติดลบ เหมือนในช่วง 1920s ที่โลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Depression) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่จากตัวเลขทางเศรษฐกิจพบว่าสภาวะเงินเฟ้อต่ำในปัจจุบัน แสดงอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกับช่วงเงินฝืด เช่น ธุรกิจมักเลือกที่จะเอาคนงานออก หรือปรับให้ทำงานครึ่งเวลามากกว่าที่จะปรับลดค่าจ้าง (ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดในกรณีของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยูโรโซน) เนื่องด้วยภาวะ Wage Stickiness
อีกความเสี่ยงหนึ่งคือมูลค่าของภาระหนี้ที่แท้จริงจะสูงขึ้น เนื่องด้วยไม่มีเงินเฟ้อมาช่วยหักลบมูลค่า ส่งผลให้ธุรกิจลดการลงทุน ครัวเรือนลดการใช้จ่าย ภาครัฐต้องรัดเข็มขัดเพราะมีภาระทางการคลังในมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่วังวนของกิจกรรมที่ซบเซาไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่า Deflation Spiral เช่นที่เคยเกิดกับประเทศญี่ปุ่นไปในช่วง 1990s
Geneva Reports on The World Economy ระบุว่า มูลหนี้รวมทั้งโลกในขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 272 ของจีดีพี โดยมูลหนี้ทั้งหมดจะยังสามารถบริหารจัดการได้ถ้าอัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 แต่ถ้าหากมีประเด็นเรื่องเงินฝืดเข้ามา และถ้าจีดีพียังทรงตัวต่ำไปเรื่อยๆ ก็จะมีความเสี่ยงว่าโลกจะรับมูลหนี้ดังกล่าวไม่ไหวหรือเกิดภาวะที่เรียกว่า Debt Unsustainability