จากผลสรุปการประมูลคลื่น 1800 ใบอนุญาต 2 ใบ สุดท้ายผู้ชนะคือ TRUE และ Advance โดย TRUE ชนะใบอนุญาตที่ 1 ด้วยมูลค่าการประมูล 39,792 ล้านบาท และ ADVANCE ชนะใบอนุญาตที่ 2 ด้วยมูลค่า 40,986 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ที่แพ้อย่างฉิวเฉียด ได้แก่ JAS ส่วน DTAC เสมือนแทบไม่ได้ประมูล เพราะ BID ราคาต่ำมาก ห่างจากคู่แข่งทั้ง 3 ราย มากกว่า 2 หมื่นล้าน คำถามคือ ทำไมใบอนุญาตที่ 1 และ 2 มูลค่าไม่เท่ากัน
ทาง ADVANCE เจาะจงต้องการประมูลให้ได้ใบอนุญาตแน่นอน 1 ใบ และต้องเป็นใบอนุญาตใบที่ 2 หรือช่วงคลื่น 2 เท่านั้น เนื่องจากช่วงคลื่นที่ 2 ในทางเทคนิคจะทำงานได้ง่ายกว่า และมีความใกล้ CAT มากกว่าคลื่นช่วงที่ 1 ซึ่งจะทำให้ AIS จะสามารถเดินเกมการตลาดโดยเน้นคำว่าสัญญาณดีที่สุด คลื่นชัดที่สุด แสดงถึงความเป็นพรีเมียม เหมาะต่อฐานลูกค้าพรีเมียมที่ AIS มีอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว จึงทำให้ AIS ต้องยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ประมูลชนะใบอนุญาตใบที่ 2 นี้มา
ถึงแม้มันจะดูเหมือนว่ามูลค่าที่ประมูลมานั้นทั้ง 2 ใบ มันสูงมากก็จริง แต่หากเทียบกับอายุ 18 ปีของใบอนุญาต ก็เสมือนว่าทั้ง 2 ใบอนุญาตมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 22,000 กว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งหากหันกลับมาดูรายได้ กำไรของ ADVANCE ที่กำไรราวละ 36,000 ล้าน เท่ากับว่าใบอนุญาต 4G อันใหม่ทำกำไรหายไปไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่มองในมุมกลับกัน Advance จะสามารถยึดตลาด 4G สร้างรายได้ได้เพิ่ม ซึ่งอาจจะมากเกินกว่าต้นทุนของใบอนุญาตก็เป็นได้
ข้ามมาฝั่งของ DTAC บางคนอาจตกใจว่าทำไม DTAC ถึงได้ไม่กล้าประมูลแข่งขันกับคู่แข่งอีก 3 ราย มองได้เป็น 2 มุม อย่างแรกคือ DTAC มีสัมปทานคลื่น 1800 เหลืออยู่อีก 3 ปี จึงไม่จำเป็นต้องมาแข่งราคาในการประมูลครั้งนี้ หรือถ้ามองอีกมุม DTAC อาจจะมีหน้าตักไม่เพียงพอที่จะมาสู้ในเกมนี้ในระยะยาว ซึ่งต้องมาดูกันต่อไปว่าในการประมูลคลื่นความถี่ 900 DTAC จะกลับมาประมูลเพื่อแย่งคลื่นนี้หรือไม่ ถึงแม้ว่าคลื่น 900 จะสามารถเอามาทำ 4G ได้ แต่ BANDWIDTH ความแรงของเน็ตน้อยกว่า 1800 ซึ่งก็จะทำให้สัญญาณสู้กับของคู่แข่งที่ได้ใบอนุญาตคลื่น 1800 ไม่ได้ ก็จะเสียความเป็นพรีเมียมที่ DTAC เคยมี
แต่ก่อนเราเคยรู้ว่า advance คืออันดับ 1 dtac เป็นอันดับ 2 และ true เป็นอันดับ 3 แต่หลังจากนี้ไปเราเริ่มจะเห็นอนาคตกลายๆ แล้วว่า จะมีแค่ AIS กับ TRUE เท่านั้นที่จะแย่งชิงอันดับ 1 ส่วน DTAC ตกเป็นอันดับ 3 แน่นอนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การขึ้นบัลลังก์อันดับ 1 ของ TRUE ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงแม้จะมีการเพิ่มทุน หรือการจับมือกับ CHINA โมบาย และล้างขาดทุนสะสมไปแล้วก็ตาม เนื่องจาก AIS มี BAND พรีเมียมที่แข็งแกร่ง และพยายามทุกวิถีทางเพื่อรักษาความเป็นพรีเมียมไว้ให้ได้อยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าถึงแม้คู่แข่งจะมีการแข่งขันด้านราคา แต่กลุ่มลูกค้าพรีเมียมของ AIS แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย
สำหรับน้องใหม่ม้ามืดอย่าง jas คงไม่มีใครคิดว่าจะกล้าประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 ด้วยมูลค่ากว่า 30,000 ล้าน ถึงแม้จะแพ้การประมูลแต่ jas ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กำลังจะเป็นรายที่ 4 ที่จะกระโดดเข้ามาร่วมแย่งเค้กก้อนนี้ เชื่อว่าในการประมูลคลื่น 900 ในอนาคตอันใกล้ jas จะเป็น 1 ใน 3 ตัวเต็งที่จะได้คลื่น 900 อย่างไม่ต้องสงสัย ถึงแม้ว่าหลายคนอาจมองว่า jas มีฐานลูกค้าเฉพาะอินเทอร์เน็ต boardband และไม่คุ้มค่าที่จะมาแข่งประมูลใบอนุญาตเหล่านี้ แต่ jas ก็กล้าทุ่มจนเกือบได้ใบอนุญาตความถี่ 1800 เหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าเจ้าของ หรือผู้บริหารมองเกมนี้เป็นการลงทุนในระยะยาว
พอเห็นแบบนี้แล้วนักลงทุนลองพิจารณากันดูว่า single stock future ตัวไหนที่น่าจะเป็นตัวที่มีอนาคตสดใสที่สุดเราก็เปิดสถานะ long จะเป็นรุกกี้หน้าใหม่ไฟแรงอย่าง jas หรือจะยังเป็นจอมราชันอย่าง advance หรือจะเป็นผู้ท้าชิงอย่าง true หรือเปิดสถานะ short ในบางบริษัทที่จะต้องเสียมาร์เกตแชร์ให้แก่คู่แข่ง หรือผู้เล่นหน้าใหม่
สัญญา หาญพัฒนกิจพาณิช
ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บล.โกลเบล็ก