xs
xsm
sm
md
lg

30 ชั่วโมงประมูล 4G ยังไม่รู้ใครชนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online




เกือบ 30 ชั่วโมงแล้วของการประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตๆละ 15 MHz ที่ยังไม่ได้ผลการแพ้ชนะ อย่างเป็นทางการ เพราะนับตั้งแต่เริ่มประมูลในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. ผู้เข้าร่วมประมูลต่างก็มีการเคาะราคากันอย่างดุเดือด ณ เวลา 16.45 มีการเคาะแล้ว 82 ครั้ง ยังคงมีการเสนอราคาทั้ง 2 ล็อต ทำให้ราคารวมของทั้ง 2 ใบอนุญาตทะลุไปถึงราคา 78,788 ล้านบาทแล้ว

ขณะที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติขยายเวลาในการประมูลจากเดิมที่กำหนดการประมูลในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 - 21.00 น.เป็นการขยายเวลาอย่างไม่มีกำหนด ก็ยังไม่ทำให้การประมูลลดความเผ็ดร้อนได้แต่อย่างใด การประมูลก็ยังคงเดินหน้าจน กทค.ต้องประกาศให้ผู้ประมูลหยุดพัก 3 ชั่วโมง ในเวลา 11.30-14.30 น. ราคาก็ยังเดินหน้าอย่างไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว

วันที่ 12 พ.ย.การเปิดประมูลในรอบ 14.30 น.หลังจากหยุดพัก ก็ยังมีการเคาะราคากันอย่างไม่หยุดยั้ง จนประธานกทค.พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ต้องเรียกประชุมกทค.ด่วนอีกครั้งว่าควรจะหยุดพักอีกครั้งเพื่อประมูลต่อในวันรุ่งขึ้นของวันที่ 13 พ.ย.

ทั้งนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ถ้ามีการประมูลต่อเนื่องหลังจาก 17.30 น. ผู้ประมูลน่าจะมีความอ่อนล่า และด้วยการที่ผู้เข้าร่วมประมูลเป็นผู้ใหญ่ทั้งสิ้นประกอบกับผู้ร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ยกเว้นแจส มีการร้องขอให้พักการประมูล ดังนั้น มติกทค.จึงมีมติให้พักการประมูลในเวลา 17.30 น. หลังจากนั้นให้พักผ่อนในห้องประมูลก่อน เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่จัดที่ให้พักภายในสำนักงาน กสทช. ทั้งนี้ยืนยันว่าการติดต่อสื่อสารต่างๆจะไม่มีเกิดขึ้น ในระหว่างพักการประมูล เพราะเป็นกฏข้อห้ามระหว่างการร่วมประมูล โดยดำเนินการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ของกสทช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อประมูลต่อในเวลา 10.00 น.ของวันในวันรุ่งขึ้นคือ 13 พ.ย.

ล่าสุด ได้มีการแจ้งเปลี่ยนมติกทค. ให้ประมูลต่อไป เนื่องจากได้รับคำร้องเรียนจากผู้เข้าร่วมประมูล

ขณะที่สื่อมวลชนเองจากหลากหลายสำนักข่าวเกือบ 100 ชีวิต ต่างหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาทำข่าวอย่างต่อเนื่อง บางสำนักก็นอนค้างคืนทำข่าวกันตลอดคืนที่สำนักงานกสทช.โดยไม่ได้อาบน้ำ และมีความคาดหวังว่าการประมูลจะจบลง โดยมีการเชียร์และลุ้นกันเป็นระยะ จนกระทั่งเวลาเกือบ 08.00 น.ของวันที่ 12 พ.ย. ที่ไม่มีผู้เสนอราคาแล้ว ทำให้สื่อมวลชนต่างคิดว่าการประมูลจะจบลง แต่สุดท้ายก็ไม่จบอย่างที่คิดเพราะผู้ประมูลเหมือนจะเพิ่งมีการแข่งขันอย่างจริงจังในวันที่ 12 พ.ย.

ด้านผู้ประมูลเอง ซึ่งประกอบด้วย 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่เดินทางมาประมูลตั้งแต่เวลา 08.00 น.ของวันที่ 11 พ.ย.นั้น ต่างก็ถูกเก็บตัวอยู่แต่ในห้องประมูลโดยไม่มีทางทราบได้เลยว่ามีบริษัทไหนหยุดประมูล หรือ เล่นเกมอะไรบ้าง เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า บริษัทบางรายมีการขอออกจากห้องประมูล แต่ไม่ได้รับการอนุญาตจากกสทช.เพราะไม่มีทางคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลยว่าการประมูลจะยืดเยื้อเพียงนี้

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนกรณีผู้ร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz มีการเคาะราคาเพิ่มในระดับสูงอาจกระทบกับการให้บริการที่ประชาชนต้องรับภาระหรือไม่ ว่า เป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบันมีบริการ 4 G ให้บริการอยู่ในตลาดอย่างน้อยสองราย และบริการ 3G 5 ราย หากประมูลคลื่นไปแพงแล้วไปคิดค่าบริการแพงผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะไปใช้บริการ 4G หรือ 3G เดิมที่มีอยู่ ราคาถูกกำกับโดยตลาดอยู่แล้ว นอกจากนี้แนวโน้มค่าบริการ 4G ทั่วโลกมีอัตราค่าบริการต่ำกว่า 3G เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น 4G สามารถรับส่งข้อมูลและรองรับผู้ใช้บริการได้มากกว่าเร็วกว่ารายได้ก็จะมากกว่า ดังนั้นต้นทุนที่คิดว่าแพงจะได้ผลตอบแทนที่มากกว่าดังนั้นราคาน่าจะต่ำลงเหมือนทั่วโลก

นอกจากนี้การกำหนดในเงื่อนไขการประมูลให้อัตราค่าบริการต้องต่ำกว่า 3Gผู้เข้าประมูลต้องยอมรับข้อนี้แล้วจึงเข้าร่วมประมูล ในการเปิดให้บริการคงมีอย่างน้อย 1 แพ็กเกจที่มีคุณภาพดีไม่ต่ำกว่า 3G ที่มีอยู่เดิมแต่ได้ราคาที่ถูกลง วิธีกำกับดูแลแบบนี้ต่างจากตอน 3 G เพราะเป็นเงื่อนไขที่จับต้องได้ ให้ผู้บริโภคเลือกได้ ตลาดจะเป็นตัวกำหนดเพดานไม่ให้สูงเกิน และมีแพ็กเกจมาตรฐานให้เลือกโปรโมชั่นที่ต้องการ

เมื่อถามถึงภาพรวมการแข่งขันที่เกิดขึ้นตลอด 25 ชั่วโมงก่อนจะมีการพักประมูล นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า การประมูลคลื่นแต่ละประเทศกำหนดราคาไม่เท่ากัน ปกติมี 2 แบบคือ ราคาค่อนต่ำกับราคาสูง กสทช.เลือกแบบราคาต่ำ เพื่อเป็นการเชิญชวนให้รายใหม่เข้ามาแข่งขัน เมื่อเข้ามาแข่งแล้วราคาจะสูงไปเอง จากการคำนวณราคาเฉลี่ยค่าใบอนุญาตขณะนี้อยู่ที่ใบละประมาณ 24,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวาน (11พ.ย.) มีที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมจากต่างประเทศมาให้ความเห็นวิจารณ์การประมูลของไทย โดยทำนายไว้ตั้งแต่ภาคเช้าว่าการประมูลจะจบไม่ต่ำกว่าราคา 60,000 ล้านบาท ทุกคนยังคิดว่าเป็นไปได้ แต่วันนี้พิสูจน์ได้ว่านักวิชาการที่เป็นกลางไม่ได้มองว่าคลื่นแพงไป 60,000 ล้านบาทก็คุ้ม ถ้าถามว่าราคาที่ประมูลมาเกินมาจากไหนตอบว่ามาจากสภาพเฉพาะของประเทศไทย เนื่องจากคลื่นครั้งนี้ให้เวลาสัมปทานมากกว่าปกติ 15 ปี เป็น 18 ปี จึงคุ้มกับราคาที่เพิ่ม ขณะที่ตอนประมูลคลื่น 2100 MHz เป็นการประมูลย่านความถี่ที่ว่างเปล่าต่อให้ไม่ชนะก็ไม่เสียคลื่น แต่คลื่น 18000 MHz มีเอไอเอสกับทรูให้บริการ พอมาประมูลแล้วเอไอเอสและทรูไม่ได้ก็เท่ากับเขาเสียคลื่นไป และการแข่งขันครั้งนี้มีรายใหม่เข้ามาไล่เคาะราคาทำให้ราคาเพิ่มขึ้นสูง

“เรามั่นใจว่าช่วงพักแต่ละค่ายจะสื่อสารกันไม่ได้ การพักจะทำให้แต่ละค่ายจะมีดุลยพินิจมากขึ้น เราไม่อยากให้ผู้ประมูลแข่งกันเพื่อหน้าตาแต่อยากให้แข่งกันเพื่อให้บริการ ถึงตอนนี้เราตอบไม่ได้ว่าการประมูลจะจบตอนไหน เราคาดการณ์ว่าเวลานี้มีผู้เข้าประมูลรายหนึ่งหยุดเคาะราคาแล้ว ดังนั้นจึงเหลือ 3 ราย การจะหยุดคงต้องให้ผู้เข้าประมูลรายที่สามหยุดเคาะหรือหมดเงินซึ่งไม่รู้เขาจะหมดเงินเมื่อใด เชื่อว่าหลังการพักประมูลการประมูลที่กลับมาใหม่จะยืดเยื้อแต่ราคาเพิ่มขึ้นไม่มาเนื่องจาก คนที่มีเงินมากที่สุดสองรายจะพยายามดึงให้รายที่สามหมดแรง โดยการขยับหนีไปเรื่อยๆ แต่จะเป็นการหนีไปรอดูไม่ห่างเกินไปเพื่อรอดูรายที่สามหมดแรง”

เมื่อถามว่าผลการประมูล 1800 MHz จะมีผลกับการประมูลคลื่น 900 MHz อย่างไร นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า เชื่อว่าการเคาะราคาคลื่น 900 MHz น่าจะคล้ายกับ 1800 MHz คือมีความดุเดือดแพ้กัน แต่เนื่องจาก 900 MHz มีเงื่อนไขต่างจาก 1800 ที่คลื่น 900 มุ่งให้บริการในชนบท ในปีแรกที่ให้บริการไม่ต้องครอบคลุมพื้นที่ 50% ของประเทศ จึงต้องมีการลงทุนโครงข่ายเพิ่ม ราคาเริ่มต้นอาจจะไม่สูง ขณะที่ 1800 MHz อย่างไรก็ดีคงต้องวัดใจผู้ประมูลอีกครั้ง เพราะต้องไม่ลืมว่าการพลาดประมูลคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ ถ้าพลาดก็ยังมีการประมูลอีกครั้งในปี 2561 แต่ ราคา 900 MHz ถ้าพลาดครั้งนี้จะไม่มีอีกแล้ว

Company Relate Link :
กสทช.






















กำลังโหลดความคิดเห็น