xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีฯ มั่นใจปล่อยกู้ซอฟต์โลน-อัดฉีดเอสเอ็มอีตามเป้า 2 หมื่นล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรุงศรีฯ เผยยอดเงินกู้ซอฟต์โลนมียอดอนุมัติไปแล้ว 1.6 พันล้าน อยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณา 1 หมื่นล้านบาท มั่นใจปล่อยได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 หมื่นล้าน ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งปี คาดหลุดเป้าหมายเติบโตที่ตั้งไว้ 10% เหตุเศรษฐกิจไม่เอื้อ

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านผลิตภัณฑ์ลูกค้าธุรกิจ ลูกค้ารายย่อย และลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ร่วมกับธนาคารออมสินนั้น ขณะนี้มียอดอนุมัติไปแล้วจำนวน 1,600 ล้านบาท อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา 10,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 20,000 ล้านบาท ซึ่งก็คงจะเป็นไปตามที่ตั้งไว้ทันกำหนดระยะเวลาโครงการสิ้นเดือนมีนาคมปี 2559

สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ช่วงครึ่งแรกปี 2558 นั้น มียอดคงค้างสินเชื่อที่ 196,000 ล้านบาท ทรงตัวในระดับเดียวกับปลายปีก่อน ทำให้มีความยากลำบากอยู่พอสมควรที่จะทำให้ถึงเป้าหมายเติบโตที่ตั้งไว้ 10% หรือมียอดคงค้างที่ 216,000 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีไม่มีการเติบโตเลย ก็เนื่องมาจากความต้องการสินชื่อที่น้อยลงจากเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ ขณะที่หลักเกณฑ์ของธนาคารก็เข้มงวดขึ้น และต้องการสินเชื่อส่วนใหญ่จะมาในช่วงปลายปี

“ในส่วนของสินเชื่อเอสเอ็มอีปกติแทบจะไม่มีการเติบโตเลยในปีนี้ จากสภาวะต่างๆ ที่ไม่เอื้อ แต่หากขยายตัวขึ้นบ้าง ก็คงมาจากซอต์ฟโลนที่เราร่วมมือกับออมสิน ซึ่งขั้นแรกเราให้กับลูกค้าเก่าก่อน จึงน่าจะมีอัตราการอนุมัติที่สูงอยู่ ซึ่งจะเป็นส่วนที่โยกมาจากวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ไม่ใช่นำไปโปะบัญชีสินเชื่อเก่าที่มีอยู่”

สำหรับคุณภาพสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารก็เข้าไปดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของรายกลาง (ยอดขาย 150-1,000 ล้านบาท) ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่รายเล็ก (ยอดขายต่ำกว่า 150 ล้านบาท) ค่อนข้างมีปัญหาหลายราย ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้่เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดถึงช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งช่วงที่ผ่านมานั้น ตัวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) น่าจะถึงจุดสูงสุดไปแล้วในช่วงกลางปี แต่จะฟื้นหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคการบริโภค ซึ่งจะตามมาหลังการลงทุนภาครัฐ-เอกชน และความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ในปีหน้าธนาคารจะเน้นในการด้านของธุรกรรมการเงินต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกรรมการเงินระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และไทยกับจีน ซึ่งธนาคารมีจุดแข็งที่มีเครือข่ายครอบคลุม และมีฐานลูกค้าจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ BTMU (Bank of Tokyo-Mitsubishi UHJ, Ltd) ที่มีฐานลูกค้าญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก

ล่าสุด ธนาคารได้ร่วมกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดให้บริการเติมเงินในบัตร Easy Pass ผ่านช่องทางธุรกรรมของธนาคาร 4 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่ เครื่องเอทีเอ็ม ช่องทาง IVR ช่องทาง Internet และช่องทาง Mobile Applecation ซึ่งจะไม่เสียค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 4 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น