xs
xsm
sm
md
lg

กรุงศรีฯ ทำแผน 3 ปีรุกธุรกิจ-คงแชมป์รายย่อย-ขยายรายใหญ่ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรุงศรีฯทำแผน 3 ปีขึ้นสู่กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำ เดินหน้า 3 ยุทธศาสตร์ “เร่งปล่อยกู้-เพิ่มค่าฟี-ลดต้นทุน” ผนึก BTMU ขยายฐานกลุ่มธุรกิจ พร้อมทุ่มเปิด 100 สาขา รักษาแชมป์รายย่อย ยันคงเป้าหมายสินเชื่อที่ 7-9%

นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY)เปิดเผยว่า กรุงศรีได้จัดทำแผน 3 ปี (2558-2560) ในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยมีเป้าหมายผลักดันกรุงศรีเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในประเทศไทย ด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ การขยายขนาดสินทรัพย์ ผ่านทางการรักษาความเป็นนำด้านสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงการเป็นผู้นำในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยจะเน้นร่วมมือกับผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในการขยายฐานลูกค้า และเป็นธนาคารหลักสำหรับลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอีโดยใช้เครือข่ายของธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จะดำเนินกลยุทธ์เพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยการยกระดับบริการด้าน Trade Finance และการบริหารการเงินหรือ Transaction Banking และกลยุทธ์ในด้านลดต้นทุนทางการเงิน โดยเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ CASA ซึ่งในส่วนนี้ก็จะเน้นในกลุ่มลูกค้าธุรกิจและเอสเอ็มอี

“”เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ธนาคารมีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ 100 สาขา และติดตั้งเครื่อง ATM ใหม่ 2,000 เครื่องทั่วประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางที่จะทำให้ธนาคารขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มรายย่อยได้ครอบคลุมขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจนั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้มีจัดตั้งกลุ่มธุรกิจธนพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC) เพื่อประสานความร่วมมือกับ BTMU ต่อยอดรุกกลุ่มลูกค้าบรรษัทข้ามชาติ”

นายโกโตะ กล่าวอีกว่า ธนาคารยังคงเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้ไว้เช่นเดิม โดยอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ 7-9% (ไม่รวมสินเชื่อจากการรวม BTMU กรุงเทพฯ) จากปีก่อนที่ 7.3% รายค่าธรรมเนียมโตสูงกว่า 12% จากปีก่อนที่ 3.5% จากโครงสร้างสินเชื่อที่สมดุลระหว่างลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี 60% และลูกค้ารายย่อย 40% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4% จากปีก่อนที่ 4.32% ซึ่งการลดลงของ NIM นั้น เนื่องจากเมื่อรวม BTMU สาขากรุงเทพฯ เข้ากับกรุงศรีแล้วจะทำให้ฐานลูกค้ารายใหญ่เพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้ NIM ลดลง และบริหารดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับ 2.5% จากสิ้นปีที่ 2.79%

สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้นั้น ธนาคารได้ประมาณการจีดีพีเติบโตไว้ที่ 3.3-3.8% ซึ่งก็คงต้องยอมรับว่าแนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลงมากกว่าขึ้น และเป้าหมายทางธุรกิจที่ตั้งไว้ก็ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งก็จะต้องพิจารณาอีกครั้งว่าปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาจากตรงไหน ส่งออก การเบิกจ่าย หรือการบริโภคเอกชน เพราะทุกตัวจะส่งผลต่อสินเชื่อของธนาคารต่างกันไป แต่ตามแผนงานของธนาคารนั้น จะเน้นการขยายสินเชื่อธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อรายย่อยจะเติบโตในระดับที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและเป็นไปอย่างระมัดระวัง

“เรื่องดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับกว่าการส่งผ่านผลของการลดดอกเบี้ยนั้นมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่้งตรงนี้ก็คงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นหลัก”
กำลังโหลดความคิดเห็น