สศค.หั่นคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 2.8% ก่อนขยายตัว 3.8% ในปี 59 โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ส่วนภาพรวม ศก.ในเดือน ก.ย.ยังมีสัญญาณชะลอ แต่เชื่อมาตรการรัฐดัน GDP ปี 58-59 เพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะสามารถขยายตัวได้ 2.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.6-3.1%) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.9% ขณะที่ภาคส่งออกปีนี้ยังหดตัว -5.4% และนำเข้าหดตัว -9.8%
โดยก่อนที่จะกลับมามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นในปี 59 มาอยู่ที่ 3.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.3- 4.3%) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อโครงการรัฐได้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า คาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ด้านการส่งออกบริการยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้การส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.2% และนำเข้าขยายตัว 7.5%
เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.58 และไตรมาส 3/58 มีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องทั้งจากการส่งออกสินค้า และการใช้จ่ายภาคเอกชนผ่านการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน แต่ยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม มาตรการการเงินการคลังที่รัฐบาลเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ ก.ย.58 คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 58 และ 59 ได้ต่อไป
สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.58 และไตรมาสที่ 3 ปี 58 การบริโภคภาคเอกชนยังมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ก.ย.58 ขยายตัวได้ 2.1% ต่อปี จากการขยายตัวของยอดการจัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัว 13.2% ต่อปี แต่ยอดจัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -11.8% ต่อปี
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมหดตัว -0.7% ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ก.ย.58 หดตัวชะลอลงที่ -0.7% ต่อปี และทั้งไตรมาสที่ 3 ปี 2558 หดตัวอยู่ที่ -10.6% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้รายได้เกษตรกรที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -25.5% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ยังคงหดตัวในระดับสูงที่ -24.9% ต่อปี
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 61.2 จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่มีปัจจัยลบจากภาคการส่งออกที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตร ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ดีขึ้น ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 58 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.8
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ก.ย.58 และไตรมาสที่ 3 ปี 58 มีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายน 2558 กลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน มาอยู่ที่ -12.6% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 หดตัว -0.5% ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย.58 หดตัวต่อเนื่องที่ -6.1% ต่อปี ตามการลดลงของราคาวัสดุก่อสร้างในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงาน และวัตถุดิบลดลง และราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัว -5.7% ต่อปี
อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.ย.58 กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยขยายตัว 1.2% ต่อปี โดยเป็นผลจากความนิยมในรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวลดลงอยู่ที่ -0.3% ต่อปี
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย. และไตรมาสที่ 3 ปี 58 พบว่า ยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันที่ -5.5% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 การส่งออกสินค้าหดตัวอยู่ที่ -5.3% ต่อปี โดยการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และกลุ่ม CLMV สามารถขยายตัวได้ ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าหลักสำคัญที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และกลุ่มอาเซียน-5 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลก และตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีสัญญาณแผ่วลงจากเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.58 สะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัว 8.7% ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 25.1% ต่อปี เป็นผลทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 24.3% ต่อปี
สำหรับภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.ย. 58 ยังคงหดตัวที่ -6.3% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัว -9.3% ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวเปลือกที่ยังคงหดตัวต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ก.ย.58 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82.8 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากการที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับผู้ประกอบการได้ขยายตลาดและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการส่งออก ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 82.7
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือน ก.ย.58 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.0 แสนคน ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 58 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวอยู่ที่ -1.1% ต่อปี เป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมัน และค่าโดยสารรถวิ่งระหว่างจังหวัด นอกจากนี้ อัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) ยังมีการปรับลดในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.58
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.0% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 58 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ -1.1% และ 0.9% ต่อปีตามลำดับ สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือน ส.ค.58 อยู่ที่ระดับ 42.8% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ย.58 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า