xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ ชี้กระแส M&A มาแรง ต่างชาติเล็งฮุบต่อยอดสู่ AEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสิกรฯ เผยแนวโน้มธุรกิจสนใจขยายฐานผ่านช่องทาง M&A เพิ่มขึ้น ทั้ง Inbound-Outbound ธุรกิจไทยเล็งไปลงทุนกลุ่มอาหาร บริการ บริโภค ขณะที่ต่างชาติหวังเข้ามาต่อยอดสู่ AEC ด้านสินเชื่อคาดปีนี้โตตามเป้าหมาย 4%

นายจงรัก รัตนเพียร รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขยายธุรกิจไทยในระยะต่อไปนั้นจะหันมาให้หาช่องทางการควบรวม และซื้อกิจการ (Merger and Acquisition : M&A) เพิ่มขึ้น นอกจากการออกหุ้นกู้ และการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยคาดการณ์ปริมาณการทำ M&A ทั่วโลกจะเติบโต 19% ในช่วงปี 2558-2561 ขณะที่ภูมิภาคเอเชียคาดว่าจำนวนดีลจะเพิ่มขึ้น 23% ในช่วงเดียวกัน

โดยเอเชีย แปซิฟิกยังเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงของธุรกรรม M&A จากทั่วโลก เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 620 ล้านคน ดันให้ธุรกรรม Outbound M&A ของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2556 ที่ตัวเลข Outbound M&A จากไทย พบว่า มีมูลค่าเพิ่มจากราว 0.15% ของจีดีพีในช่วงปี 2552-2554 มาอยู่ที่1.3% ของจีดีพี หรือกว่า 175,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2555-2558 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ธุรกิจไทยให้ความสนใจการเข้าซื้อกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าบริโภคอุปโภค และอุตสาหกรรมบริการ โดยคาดว่ากลุ่มบริการจะมีจำนวนดีลสูงที่สุด ขณะที่การควบรวมและซื้อกิจการของบริษัทต่างชาติที่มีต่อกิจการในประเทศไทย (Cross-Border M&A) ขยายตัวเพราะต้องการใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อต่อยอดไปยังตลาด AEC เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค

ส่วนการควบรวม และซื้อกิจการระหว่างธุรกิจไทยกับไทย (Domestic M&A) ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ และธุรกิจด้านสุขภาพ โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องจากกระแสการขยายตัวของเขตเมือง (Urbanization) และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ทั่วประเทศ รวมถึงแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพที่มีแนวโน้มการขยายตัวของประชากรที่ใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น

“ในอนาคตการอยู่คนเดียวอาจจะอยู่ยากขึ้น การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่ง ลดต้นทุน และหลายธุรกิจต้องการต่อยอดไปสู่ธุรกิจใกล้เคียงการหาพันธมิตรร่วมกันจึงเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางมองทางเลือกที่จะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น”

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ในปีนี้ คาดว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อเติบโตได้ตามเป้าหมาย 4% จากยอดคงค้างประมาณ 400,000 ล้านบาท เป็น 450,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้ มีรายได้ดอกเบี้ยเติบโต 7-9% รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 11-14% และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่ 1%
กำลังโหลดความคิดเห็น