xs
xsm
sm
md
lg

“สัมมากร” ขนสต๊อกพันล้านเร่งขายรับมาตรการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา
“สัมมากร” ขนสต๊อก 1,000 ล้านบาท เร่งขาย-โอน หวังรับมาตรการพร้อมอัดแคมเปญส่วนลด 3.5 แสน-1.25 ล้านกระตุ้นยอดจองหวังทำรายได้ 1,800 ล้านบาทตามเป้า พร้อมเผยแผนลงทุนปี 59 เปิดอย่างน้อย 3 โครงการ มูลค่า 2,700 ล้านบาท

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) หรือ SAMCO เปิดเผยว่า ด้านภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์มองว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากภาครัฐมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อ ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น และมีผลการตัดสินใจซื้อที่เพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ภารรัฐออกมานั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีช่วยกระตุ้นตลาด โดยเฉพาะในแง่ของจิตวิทยา ซึ่งในส่วนของมาตรการการคลังลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองจาก 2% เหลือ 0.01% ช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ซื้อบ้านได้พอสมควร แต่ขณะนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ลูกค้าชะลอการโอนเพื่อรอมาตรการ ซึ่งมาตรการนี้จะเห็นได้ชัดเจนเมื่อใกล้หมดอายุมาตรการประชาชนจึงจะเริ่มไปโอน

ส่วนมาตรการการเงินที่ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้ผู้มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 30,000 บาท ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท กลุ่มลูกค้าที่จะใช้เกณฑ์นี้มักเป็นลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ หรือคุณสมบัติไม่เพียงพอตามที่ธนาคารกำหนด ทำให้วงเงินกู้ไม่ถึงราคาบ้าน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มีคามเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาหนี้เสียตามมาในภายหลังได้ ส่วนวงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการนี้ถือว่าไม่มาก

“การที่รัฐบาลออกมาตรการดังกล่าวมาถือเป็นเรื่องดีสำหรับอสังหาฯ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะสามารถทำได้ แต่สิ่งสำคัญที่รัฐควรทำมากที่สุดคือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโต เมื่อเศรษฐกิจดีคนก็จะซื้อบ้าน เพราะมีความเชื่อมั่นในรายได้ในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า” นายกิตติพล กล่าว

นายกิตติพล กล่าวถึงแผนลงทุนปี 2559 ว่า เบื้องต้น บริษัทมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 2,700 ล้านบาท จะเป็นโครงการแนวราบทั้งหมด ได้แก่ โครงการบ้านเดี่ยว โซนชัยพฤกษ์ตัดใหม่ มูลค่า 1,000 ล้านบาท และโครงการทาวน์เฮาส์ โซนรามอินทรา มูลค่า 1,000 ล้านบาท และโครงการทาวน์เฮาส์ใหม่ บนทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง มูลค่า 700 ล้านบาท และอาจมีคอนโดมิเนียมเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง และบรรลุแผนเป้าหมายรายได้ระยะยาว 4,000 ล้านบาทภายในปี 2562 โดยสัดส่วนรายได้มาจากบ้านเดี่ยว 1,700 ล้านบาท ทาวน์เฮาส์ 1,100 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 900 ล้านบาท และอื่นๆ 305 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทได้วางงบซื้อที่ดินใหม่ในปีหน้าอีก 900-1,000 ล้านบาท โดยจะซื้อที่ดินใหม่ทั้งหมด 3 แปลง มูลค่าแปลงละ 300-350 ล้านบาท เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการใหม่ในปี 2560 ซึ่งอาจจะมีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมใหม่อีก 1 โครงการ ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้ารายได้ไนปี 2559 อยู่ที่ 2,260 ล้านบาท

นายกิตติพล กล่าวต่อว่า เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ บริษัทจะเน้นนำสต๊อกที่รองรับมาตรการอสังหาฯ ของภาครัฐมาเร่งการขาย และการโอนให้มากขึ้น โดยแบ่งเป็นสต๊อกบ้านเดี่ยวมีอยู่ 8 โครงการ จำนวนทั้งสิ้น 200 ยูนิต มูลค่าประมาณ 320 ล้านบาท ส่วนคอนโดมิเนียมมีสต๊อกอยู่ประมาณ 120-160 ยูนิต มูลค่าประมาณ 760 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการจัดแคมเปญการตลาดกระตุ้นการจอง “บ้านดีนาทีทอง” โดยลูกค้าที่จองซื้อบ้านทุกโครงการจะได้ส่วนลดเงินสดมูลค่าตั้งแต่ 3.5 แสนบาท ถึง 1.25 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงที่กำลังซื้อลด ลูกค้าต้องการส่วนลดมากกว่าของแถมที่ทางโครงการจัดให้

ปัจจุบัน บริษัทมีมูลค่ายอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 750 ล้านบาท แบ่งเป็นแบ็กล็อกของคอนโดมิเนียม 500 ล้านบาท และแนวราบ 250 ล้านบาท โดยจะทยอยโอนในไตรมาส 4 ปีนี้ อีกราว 600 ล้านบาท แบ่งเป็นการโอนคอนโดมิเนียม 350 ล้านบาท และโอนแนวราบทั้งหมด 250 ล้านบาท อย่างไรก็ดี บริษัทยังมั่นใจรายได้ปีในปีนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,800 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 1,150 ล้านบาท แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจะได้รับผลกระทบในเรื่องการชะลอโอนโครงการคอนโดมิเนียม เอส 9 ของลูกค้า ซึ่งบริษัทตั้งเป้าโอนโครงการคอนโดมิเนียมดังกล่าวในปีนี้ 500 ล้านบาท โดยได้โอนไปเพียง 150 ล้านบาทจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บริษัทจะพยายามเร่งการโอนโครงการคอนโดมิเนียม เอส 9 มากขึ้นในไตรมาส 4 อีก 350 ล้านบาท หลังจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว นอกจากนี้ ยังจะเร่งการโอนโครงการแนวราบอีก 250 ล้านบาท

สำหรับอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจกต์) ของบริษัทในช่วงที่เหลือของปีนี้ และต้นปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงตามลำดับจากไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 31.40% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 23.40% และไตรมาส 3 ราว 14.82% โดยเป็นผลมาจากการปรับปรุงการจัดการลูกค้าในการขอสิเชื่อ โดยการทำการพรีแอปปรูฟ ( Pre-approve) ก่อนทำสัญญา ทำให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อของบริษัทปรับตัวลดลงทุกไตรมาส


กำลังโหลดความคิดเห็น