ตามที่เกิดเหตุอุบัติภัยทาวน์เฮาส์ 10 หลัง อยู่ซอย 6 ในหมู่บ้านรินทร์ทอง ต.คูคต อ.ลำลูกกาคลอง 2 จ.ปทุมธานี ได้ทรุดตัวลงอย่างน่ากลัวจนบ้านทั้งหลังเอนเอียง มีเสียงดังก่อนทรุด ผนัง และกำแพงบางส่วนแตกหักเสียหาย เสี่ยงต่ออันตรายในการพังถล่ม สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้อยู่อาศัยนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. พร้อมด้วย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. และทีมงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ลงพื้นที่ตรวจวิเคราะห์ความเสียหาย ชี้มีความเป็นมาของพื้นที่ทรุดตัวแห่งนี้ วสท.เคยมาสำรวจครั้งหนึ่งเมื่อต้นปี 53
หมู่บ้านรินทร์ทอง ประกอบด้วยบ้านส่วนใหญ่เป็นทาวน์เฮาส์จำนวนกว่า 1,000 หลังคาเรือน ก่อสร้างในปี 2537 และเปิดขายมาตั้งแต่ปี 2538 เป็นบ้านทาวน์เฮาส์ ราคาประมาณ 500,000 กว่าบาท มีถนนคอนกรีต และบ้านซึ่งเดิมมีระดับสูงกว่าถนนประมาณ 20 ซม. วสท. ได้เคยเข้าตรวจพื้นที่แห่งนี้ในเดือน ม.ค.ปี 2553 ที่ผ่านมา เมื่อเกิดพื้นดินทรุดตัวอย่างมากจำนวนกว่า 500 หลัง ขณะนั้นยังมีสภาพที่อยู่อาศัยได้ แต่มีความเสี่ยงเนื่องจากมีปัญหาน้ำท่วม เพราะพื้นดิน และพื้นถนนทรุดตัวต่ำกว่าตัวบ้าน จนใต้ถุนบ้านกลายเป็นโพรง และมีน้ำขัง อีกทั้งยังดึงกำแพงด้านหน้าและด้านข้างของโรงจอดรถให้ยุบตัวลงด้วยเกือบ 1 เมตร
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า สำหรับลักษณะการทรุดร้าวหนักของทาวน์เฮาส์ที่เกิดเหตุในวันที่ 12 ต.ค.2558 ทำให้ทาวน์เฮาส์ 5 หลัง ในซอย 6 ทรุดตัว และทำให้อีก 5 หลัง ซึ่งมีโครงสร้างต่อเนื่องกันมีปัญหาตามมาพื้นที่ใต้บ้านทรุดยุบเป็นโพรง สภาพของตัวบ้าน 5 หลังริมสุด ผนังมีรอยแยกร้าว กำแพงบ้านทรุดเอียงกว่า 1 เมตร พื้นทรุดเข้าหากัน หน้าต่างเบี้ยว และหลุดจากวงกบ เสี่ยงต่อการที่จะพังถล่มลงมา บางหลังเสาเข็ม และคานหลุดออกจากกัน เสาคานมีเหล็กโผล่ และเป็นสนิม โดยขณะนี้ใช้แผงกั้นบริเวณไว้เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่
ข้อมูลจากสำนักงานโยธาจังหวัดปทุมธานี พบว่า พื้นที่ที่ก่อสร้างนั้นเคยเป็นบ่อดินเก่า อาจทำให้อาคารมีการทรุดตัวเร็วขึ้น นอกจากนี้ บ้านหลังริมสุดมีปัญหารอยร้าวตั้งแต่ทำการโอนบ้านปี 2538 จากนั้นก็มีการซ่อมเสริมเสาเข็มในปี 2540 ตัวถนนทรุดตัวลงประมาณ 1 เมตร และเพิ่งทำถนนใหม่ในปี 2557
ปัจจุบัน ทาวน์เฮาส์มีพื้นทรุดต่ำกว่าถนนที่ทำใหม่ ขณะเกิดเหตุหลังริมสุดที่ทรุดร้าวนั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.2558 โดยไม่สามารถปิดประตูได้ จากนั้นเกิดรอยร้าวตามมุมต่างๆ ในบ้าน ครัวหนักสุด มีวัสดุตกร่วงลงมา ต่อมา ในวันที่ 12 ต.ค.2558 ช่วงเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมงมีเสียงลั่นในทาวน์เฮาส์หลังนี้เป็นระยะๆ
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวถึงลักษณะโครงสร้างของทาวน์เฮาส์ใช้โครงสร้างร่วมกัน และต่อเนื่อง เมื่อบางหลังมีการทรุดตัวมาก เกิดรอยแยกร้าว หรือเสาเข็มหลุดจากคานก็จะดึง และส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อทาวน์เฮาส์หลังข้างเคียงไปด้วย ส่วนสภาพดินอ่อนในบริเวณนี้เมื่อเจออุทกภัยน้ำท่วมหนักในปี 2554 หรือฝนตกหนักมีน้ำท่วมขังก็จะทำให้กำลังของดินลดลง และส่งผลต่อความแข็งแรงของระบบฐานราก ข้อสังเกตโครงการทาวน์เฮาส์ที่สร้างในสมัย 20 กว่าปีก่อน มักจะใช้เสาเข็มสั้นเมื่อเจอปัญหาดินอ่อน และดินทรุดอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้กำลังฐานรากอ่อนแอ กระชากให้เสาเข็ม และคานหลุด นอกจากนี้ สภาวะที่มีน้ำท่วมขังบ่อยๆ ใต้พื้นโพรงบ้านยังส่งผลเสียต่อคุณภาพของคอนกรีต และสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. กล่าวว่า ทาง วสท.จะประสานงานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จ.ปทุมธานี กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการเจาะหลุมเพื่อวิเคราะห์คุณภาพดินและฐานราก โดยกรมโยธาธิการ และผังเมือง จ.ปทุมธานี จะเจาะทั้งในบริเวณซอย 6 ที่ทาวน์เฮาส์ที่มีปัญหาทรุดหนัก
วสท.ได้ขอความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ดำเนินการทำ Contour วัดระดับพื้นที่ในโครงการ เพื่อประมวลผลจุดพื้นดินทรุดจากระดับปกติ และเมื่อสรุปผล ทาง วสท.จะส่งข้อมูลให้หน่วยงานกรมโยธาธิการฯ พิจารณาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่อไป
วสท.ขอแนะนำประชาชนในการตัดสินใจซื้อบ้านต้องขอดูแบบรายละเอียดของบ้าน และสุดท้ายผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรคำนึงถึงรายละเอียดของพื้นที่ การวิเคราะห์ดิน การใช้วัสดุ การก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ และความเหมาะสมต่อสภาพของที่ดินนั้นๆ เพื่อคุณภาพ และความมั่นคงของโครงการ