xs
xsm
sm
md
lg

ดีลอยท์ฯ รับอานิสงส์เออีซี ปี 58 ในไทยโกย 1.2 พันล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดีลอยท์ มั่นใจได้รับผลดีต่อการทำธุรกิจหลังก้าวเข้าสู่ AEC โดยดีลอยท์ ในไทยโกยรายได้ในสิ้นปีงบ 58 กว่า 1,200 ล้านบาท หนุนผลงานในอีสต์เอเชียเติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่า เสนอ 6 ชาติอาเซียนเร่งปรับปรุงเงื่อนไขอันเป็นข้อจำกัดภายในให้เอื้อประโยชน์ต่อการสร้างเขตเศรษฐกิจการค้าอย่างจริงจัง ย้ำมั่นใจผลการดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลแดนมังกรจะทำให้จีนกลับมาโตได้ยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านมา

นายชาลี มาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย (Deloitte SAE) กล่าวถึงผลดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ด้วยอัตราการเจริญเติบโต 10.9% หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับสิ้นปีงบประมาณที่ผ่านมา ที่เติบโต 4.9% โดยกลุ่มดีลอยท์ในออสเตรเลีย และจีนนั้นมีผลดำเนินงานที่ขยายตัว 15% และ 16% ตามลำดับ

ขณะที่ผลการดำเนินงานจากกลุ่มอาเซียน ที่ดีลอยท์มีสำนักงาน 25 แห่งใน 10 ประเทศ ล้วนประสบผลสำเร็จด้วยเช่นกัน โดยเติบโต 14% เมื่อเทียบปีก่อน ส่วนของประเทศไทยนั้นจะมีอัตราการเจริญเติบโตที่ 13% หรือมีรายได้รวมกว่า 1,400 ล้านบาท หรือ 42 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทยังคงให้ความสำคัญต่อเรื่องรายได้ และความสัมพันธ์กับลูกค้า นอกจากนี้ ยังจะร่วมมือกับ Deloitte SAE ผลักดันโครงการ Integrated Market Offering (IMO) ที่มุ่งเน้นส่งเสริมความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และส่งผลต่อการเจริญเติบโตด้านรายได้ในระยะยาวของบริษัท

นอกจากนี้ สุภศักดิ์ ซึ่งดูแลกลุ่มธุรกิจลูกค้าของกลุ่มดีลอยด์ทั้งในประเทศไทย และใน สปป.ลาว ยังได้แสดงความมั่นใจถึงการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของประชาคมอาเซียน (AEC) ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2558 ว่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับดีลอยท์ เนื่องจากอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้มีการวางรากฐานต่างๆ และได้ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ 4 เสาหลักตามความคิดริเริ่มที่สำคัญ ซึ่งถูกระบุไว้ในพิมพ์เขียวของ AEC จนถึงปัจจุบันได้มีบริษัทข้ามชาติหลายแห่ง และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ต่างก็มีการขยายฐานกิจการในอาเซียนเพื่อช่วงชิงตลาด และเข้าถึงผู้บริโภคกันอย่างกว้างขวางแล้ว

ทั้งนี้ ประธานเจ้าหน้าที่ Deloitte SAE ยังได้ระบุถึงผลประเมินภาพรวมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่คาดหมายว่า ในปี 2020 ภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าการค้าการลงทุนขยับขึ้นเป็น 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งมูลค่าการค้าการลงทุนดังกล่าวนั้นจะเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น โดยขึ้นแทนที่ประเทศเยอรมนี ขณะที่จำนวนประชากรอาเซียน 620 ล้านคนนั้นจะมีอายุเฉลี่ย 28 ปี และอัตราการขยายตัวของมูลค่าผลผลิตมวลรวมในประเทศของทั้งกลุ่มอาเซียนจะอยู่ที่ 5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ ดีลอยท์ฯ ยังมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ปลายปี 2558 อาเซียนจะคงยังเดินหน้าต่อหลังจากที่แต่ละประเทศสามารถดำเนินนโยบายปรับปรุงกฎระเบียบภายในของตัว เพื่อสนับสนุนข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนได้แล้วประมาณ 70-80% แต่กระนั้นก็ตาม ในแต่ละประเทศก็ยังคงมีเงื่อนไขด้านกฎระเบียบที่เป็นมาตรการกีดกันการค้าซึ่งไม่ใช่ภาษี ที่ยังต้องจับตามองว่าในแต่ละประเทศจะสามารถปรับปรุงเงื่อนไขได้ดีแค่ไหน เช่น มาตรการกีดกันจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ที่ยังคงมีข้อจำกัดเรื่องแรงงานต่างด้าวในประเทศ

ส่วนแนวโน้มความเป็นไปได้ของเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศในอนาคตจะเป็นเช่นไรนั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีทลอยท์ เซาท์อิสต์เอเชีย ให้ความเห็นว่า จะขึ้นอยู่กับความมีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และในระดับภูมิภาคจะเป็นเช่นไร เนื่องจากหลายๆ ประเทศในอาเซียนกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงเลือกตั้งใหม่ เช่น พม่า ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนหน้า และหลายคนได้คาดการณ์ว่า พรรคฝ่ายค้านที่มีนางอองซาน ซู จี เป็นผู้นำ จะได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลใหม่แทนรัฐบาลทหารของพม่า แต่ก็ยังสงสัยว่า รัฐบาลทหารจะยินยอมให้นางอองซาน ซู จี จัดตั้งรัฐบาลได้จริงหรือไม่ ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งแม้จะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้วก็ตาม แต่การดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลก็ยังไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนเคยคาดหวังกันไว้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในจีนที่ชะลอตัวลงนั้น ประธานเข้าหน้าที่บริหาร Deloitte SEA ได้กล่าวว่า ตนมีความมั่นใจในวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ของจีน และมองว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนั้นอยู่บนรากฐานความต้องการของผู้นำประเทศที่อยากเน้นการเติบโตอันเกิดจากการบริโภคจากภายในประเทศ และมุ่งเน้นนโยบายขยายการลงทุนไปสู่พื้นที่ในภาคตะวันออกของประเทศให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายอย่างจริงจังเพื่อปรับปรุงรัฐวิสาหกิจที่ยังคงมีปัญหาด้อยประสิทธิภาพอย่างมาก

รวมทั้งจีนได้พยายามที่จะลงทุนเพื่อเชื่อมเส้นทางขนส่งระหว่างจีน-ยุโรป ด้วยการฟื้นเส้นทางสายไหม (Silk Road) ให้กลับขึ้นมาใหม่ให้ได้ เช่นเดียวกับความพยายามที่จะพัฒนาเส้นทางในการเดินเรือในอีกหลายๆ เส้นทางของจีนด้วย แม้การดำเนินการในแนวทางนี้จะมีผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศจีนบ้างก็ตาม แต่อัตราการเจริญเติบโตที่ลดลงเหลือแค่ 7% ก็ไม่ได้ถือว่าต่ำเกินไป และเชื่อว่าในอนาคตประเทศนี้ต้องกลับมาเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น