xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ชิต” ยันดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติยังอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชิต เหล่าวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอีชั่วคราว)
“ดร.ชิต” มั่นใจนโยบาย Digital Economy เดินหน้าต่อหลัง “อุตตม-พล.อ.อ.ประจิน” จับมือกันเตรียมถกหาความชัดเจนทั้ง 5 โครงการภายในกลางเดือน ก.ย. ขณะที่ทีโอทีเร่งเคลียร์ปัญหาข้อพิพาทเอไอเอส จับเป็นพันธมิตรกลุ่มเสาโทรคมนาคม พร้อมสรุปพันธมิตรกลุ่มโทรศัพท์มือถือ เตรียมนำเข้าบอร์ด 16 ก.ย. เพื่อให้จบก่อนวันหมดสัญญาสัมปทานเอไอเอส 30 ก.ย.นี้

นายชิต เหล่าวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอีชั่วคราว) กล่าวว่า ขณะนี้เป็นที่มั่นใจแน่นอนแล้วว่านโยบาย Digital Economy ยังคงเดินหน้าต่อเพราะผู้ที่มาดูแลงานแทน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็ได้ประสานงานร่วมกับ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที อยู่แล้ว โดยภายในกลางเดือน ก.ย.นี้จะมีการประชุมบอร์ดดีอีชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง และจะมีการพูดคุยถึงความคืบหน้าของทุกโครงการที่เกี่ยวข้องต่อนโยบาย Digital Economy ได้แก่ 1.คณะทำงานบรอดแบนด์แห่งชาติ 2.คณะทำงานศูนย์ข้อมูลในประเทศ (Data Center) 3.คณะทำงานด้านการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิตอล การส่งเสริมธุรกิจดิจิตอลเกิดใหม่ และการส่งเสริมเนื้อหาดิจิตอล 4.คณะทำงานการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และ 5.คณะทำงานติดตามกฎหมายเศรษฐกิจและสังคมดิจิตอล

“สำหรับเรื่องดาต้า เซ็นเตอร์แห่งชาติ ซึ่งผมเป็นกรรมการอยู่นั้น หากผู้ใหญ่ต้องการให้ดูแลต่อก็ยินดี แต่หากไม่ใช่ผมคนอื่นก็สามารถเข้ามาสานงานต่อได้ เพราะขณะนี้ได้วางแผนโครงการไว้เรียบร้อยแล้ว มีบริษัทเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการประมาณ 27 ราย แต่ภายในเดือน ต.ค.นี้ จะเลือกให้เหลือเพียง 5-6 ราย”

ส่วนความคืบหน้าในการหาพันธมิตรทางธุรกิจของบริษัท ทีโอที นั้น นายชิต ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทีโอที กล่าวว่า ในส่วนของกลุ่มเสาโทรคมนาคม และกลุ่มโทรศัพท์มือถือนั้น ในวันที่ 11 ก.ย. ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ ก่อนจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทีโอที ในวันที่ 16 ก.ย. และต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นวันที่สัญญาสัมปทาน 2G คลื่น 900 MHz ที่ทำกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอสจะหมดอายุ เพราะหากไม่เสร็จภายในเดือนนี้จะมีผลต่อการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ได้ประชุมถึงความคืบหน้าในการหาพันธมิตรในกลุ่มเสาโทรคมนาคมไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ทีมเจรจายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากแต่เดิมเข้าใจว่ารูปแบบการเป็นพันธมิตรร่วมกันนั้นคือ การร่วมทุนทางธุรกิจ (Joint Venture หรือJV) แต่ดีลอยท์ บริษัทที่ปรึกษา และทีมเจรจาทีโอทีกลับรายงานว่า ทางเลือกในการเป็นพันธมิตรร่วมกันนั้นไม่ได้มีแค่การเป็น JV เพียงทางเลือกเดียว แต่ยังมีอีก 2 ทางเลือกที่ทีมเจรจาได้เสนอไปด้วยจึงต้องให้เวลาแก่พันธมิตรในการตัดสินใจ

“การจะเลือกใช้วิธีไหน เรื่องสำคัญนอกเหนือจากผลประโยชน์ที่ทีโอทีจะได้รับแล้ว จะต้องแก้ไขปัญหาข้อพิพาทกับเอไอเอสด้วย”

สำหรับกลุ่มโทรศัพท์มือถือที่จะหารือกันในที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์ในวันที่ 11 ก.ย.นั้นจะคุยกันเฉพาะเรื่องคลื่น 2100 MHz ยังไม่นับรวมกับคลื่น 900 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทานลงเพราะโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าคลื่นดังกล่าวต้องนำไปประมูลตามกฎหมาย โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกพันธมิตรนั้นจะเลือกจากพันธมิตรที่เสนอผลประโยชน์ให้ทีโอทีสูงสุด เพราะทีโอทียอมรับว่าไม่สามารถบริหารจัดการคลื่นที่มีอยู่เองได้ ต้องหาพันธมิตรในการร่วมทำธุรกิจ ทั้งนี้ ในการหาพันธมิตรของกลุ่มโทรศัพท์มือถือสามารถหาพันธมิตรได้มากกว่า 1 ราย

นอกจากนี้ ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องหาพันธมิตรด้านโทรศัพท์มือถือเพราะทีโอทีได้รับหนังสือเตือนจาก สตง.ตั้งแต่เดือน เม.ย.ว่า หากไม่ทำอะไรต่อบริการ 3G จะต้องถูกด้อยค่าเงินลงทุนในส่วนนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาททั้งหมด ซึ่งจะกระทบต่อผลประกอบการทีโอทีทันที ส่วนบริการ 3G ในปัจจุบันจากความจุของระบบ 7.2 ล้านเลขหมาย มีลูกค้าแค่ 4-5 แสนราย และทีโอทีแบกภาระขาดทุนวันละ 13 ล้านบาท

ทั้งนี้ ทีโอทีได้แบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 6 กลุ่มตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายและการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เพื่อให้เอกชนที่สนใจเสนอเงื่อนไขเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ คือ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม กลุ่มเสาโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ตเกตเวย์กับเคเบิลใต้น้ำ กลุ่มโทรศัพท์มือถือ กลุ่มโทรศัพท์พื้นฐานและบรอดแบนด์ กลุ่มบริการด้านไอทีและบริการคลาวด์ ซึ่งอีก 4 กลุ่มธุรกิจจะดำเนินการเจรจาหาพันธมิตรต่อไป โดยมีบริษัทเอกชนที่เสนอตัวมาเป็นพันธมิตรด้านโทรศัพท์มือถือ จำนวน 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส, บริษัท โมบาย แอลทีอี, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น