xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ คาดหวังมาตรการ ดัชนีเชื่อมั่น Q3 เพิ่ม ยอดโอนครึ่งปี 2 แสนล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สัมมา คีตสิน
ศูนย์ข้อมูลฯ เผยดัชนีความคาดหวัง 6 เดือนข้างหน้า ภาคธุรกิจอสังหาฯ ยังคาดหวังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ของกระทรวงการคลัง จะมีรูปแบบที่เหมาะสม ขณะที่ผลสำรวจไตรมาส 3 ปี 58 พบผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ค่าเท่ากับ 52.2 โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 59.6 เหตุจากทีมศก.ใหม่ มาตรการกระตุ้น ศก.ที่ชัดเจน ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในเขต กทม.-ปริมณฑล ครึ่งปีแรกยอดรวม 83,800 หน่วย เพิ่มขึ้น 2% คอนโดฯ ครองแชมป์ 36% ตามติดด้วยทาวน์เฮาส์ 34% มูลค่าโอนกว่า 2 แสน ล. คอนโดฯ และบ้านเดี่ยวห่างไม่มาก อยู่ที่ 33% และ 31% เผยขนาดพื้นที่โอนห้องชุดใน กทม. 27.3%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 3 ปี 2558 มีผู้ประกอบการตอบแบบสอบถาม จำนวน 168 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 32 บริษัท และบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 136 บริษัท ในการคำนวณดัชนีรวมจะให้น้ำหนักบริษัทจดทะเบียนและบริษัทไม่จดทะเบียน 50:50 เท่ากัน

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ แถลงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีค่ากลางของดัชนีเท่ากับ 50 ดังนั้น หากค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางมีนัยว่า ผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ดี ในทางตรงข้าม หากค่าดัชนีต่ำกว่าค่ากลางมีนัยว่าผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาวะที่ไม่ดี

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ประจำไตรมาส 3 ปี 2558 พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน (Current Situation Index) มีค่าเท่ากับ 52.2 สูงกว่าค่ากลาง และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 2/2558) ซึ่งดัชนีมีค่าเท่ากับ 50.4 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นสูงกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน (Non-Listed)

โดยผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 59.6 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงขึ้นกว่าในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายกลางและรายย่อย) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันลดลง ค่าดัชนีเท่ากับ 44.8 ซึ่งต่ำกว่าค่ากลาง (ค่ากลางเท่ากับ 50)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโดยภาพรวมมีค่าความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียน มีความเชื่อมั่นที่ดีมากกว่าผู้ประกอบการรายกลาง และรายย่อย ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันโดยภาพรวมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ และรายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นทั้งในด้านยอดขาย การลงทุน ต้นทุนประกอบการที่ลดลงสอดคล้องต่อราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวลง และการเปิดโครงการใหม่ หรือเฟสใหม่เพิ่มขึ้น

สำหรับดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) ประจำไตรมาส 3/2558 มีค่าเท่ากับ 66.3 ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว (ไตรมาส 2/2558) ซึ่งมีค่าเท่ากับ 67.8

“ความคาดหวังในอนาคตโดยภาพรวมยังดีอยู่ โดยผู้ประกอบการมีความคาดหวังมาตรการกระตุ้นภาคที่อยู่อาศัยที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม”

เมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่า ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed) มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 74.0 ซึ่งเท่ากับไตรมาสที่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน มีค่าดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 58.5 ปรับลดลงจากไตรมาสที่แล้ว โดยไตรมาสที่แล้วมีค่าดัชนีเท่ากับ 61.6

ลุ้นมาตรการดันยอดโอนปลายปีพุ่ง

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังได้เปิดเผยข้อมูลโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม) พบว่า ในครึ่งแรกของปี 2558 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยรวมกันประมาณ 83,800 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 82,400 หน่วย

จากปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะที่อยู่อาศัย จำนวน 83,800 หน่วยนี้ แบ่งเป็นยอดโอนในเดือนมกราคม ประมาณ 13,000 หน่วย เดือนกุมภาพันธ์ ประมาณ 12,700 หน่วย เดือนมีนาคม ประมาณ 15,100 หน่วย เดือนเมษายน ประมาณ 11,400 หน่วย เดือนพฤษภาคม ประมาณ 14,500 หน่วย และเดือนมิถุนายน ประมาณ 17,100 หน่วย

ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในครึ่งแรกของปี 2558 แบ่งเป็นห้องชุดคอนโดมิเนียมมากที่สุด จำนวน 29,900 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 36 ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน) รองลงมาเป็นทาวน์เฮาส์ 28,500 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 34) บ้านเดี่ยว 14,900 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 18) อาคารพาณิชย์ 7,200 หน่วย (สัดส่วนร้อยละ 9) ที่เหลือเป็นบ้านแฝด ประมาณ 3,300 หน่วย

มูลค่าโอนครึ่งปีกว่า 2 แสนล้านบาท

พิจารณาในแง่ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในครึ่งแรกของปี 2558 มีมูลค่ารวมกันประมาณ 201,100 ล้านบาท แบ่งเป็นห้องชุดมีมูลค่าการโอนประมาณ 66,500 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 33 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภทรวมกัน) บ้านเดี่ยว มีมูลค่าการโอนประมาณ 61,800 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 31)

ทาวน์เฮาส์ มีมูลค่าการโอนประมาณ 42,300 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 21) อาคารพาณิชย์ มีมูลค่าการโอนประมาณ 23,000 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 11) และบ้านแฝด มีมูลค่าการโอน 7,500 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 4)

จากจำนวนหน่วยห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด พบว่า เป็นหน่วยห้องชุดใหม่ประมาณร้อยละ 80 และเป็นหน่วยห้องชุดมือสองประมาณร้อยละ 20

การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุดมีมากที่สุดในกรุงเทพฯ ประมาณ 22,800 หน่วย ในจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 3,800 หน่วย จังหวัดสมุทรปราการ ประมาณ 1,800 หน่วย จังหวัดปทุมธานี ประมาณ 940 หน่วย จังหวัดนครปฐม ประมาณ 340 หน่วย และจังหวัดสมุทรสาคร ประมาณ 210 หน่วย

พื้นที่เฉลี่ยต่อหน่วยของห้องชุดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯอยู่ที่ประมาณ 27.3 ตารางเมตร ส่วนในจังหวัดปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 28.2 ตารางเมตร

พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดใหม่ (โอนจากนิติบุคคล) มากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ เขตพระโขนง อำเภอเมืองนนทบุรี เขตสวนหลวง เขตห้วยขวาง และเขตบางซื่อ ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมือสอง (โอนจากบุคคลธรรมดา) มากที่สุด ได้แก่ เขตบางซื่อ เขตพระโขนง เขตบางกะปิ เขตธนบุรี และเขตห้วยขวาง ตามลำดับ

พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวขายใหม่มากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางพลี อำเภอลำลูกกา เขตสายไหม และอำเภอปากเกร็ด ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวมือสองมากที่สุด ได้แก่ เขตบางกะปิ เขตบางเขน อำเภอลำลูกกา เขนมีนบุรี และอำเภอเมืองสมุทรปราการ ตามลำดับ

พื้นที่ซึ่งมีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์ขายใหม่มากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้ ได้แก่ อำเภอบางพลี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอลำลูกกา ส่วนพื้นที่ที่มีจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ทาวน์เฮาส์มือสองมากที่สุด ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ เขตบางเขน อำเภอบางบัวทอง อำเภอคลองหลวง และอำเภอลำลูกกา ตามลำดับ


ดัชนีเชื่อมั่อสังหาฯQ3กระเตื้อง
ASTVผู้จัดการรายวัน – ศูนย์ข้อมูลฯ เผยดัชนีความคาดหวัง 6 เดือนข้างหน้า ธุรกิจอสังหาฯยังคาดหวังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของกระทรวงการคลัง ขณะผลสำรวจไตรมาส 3 ปี 58 พบผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ค่าเท่ากับ 52.2 โดยบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันเท่ากับ 59.6 เหตุทีมศก.ใหม่มาตรการกระตุ้นศก.ที่ชัดเจน ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกทม.-ปริมณฑลครึ่งปีแรก ยอดรวม 83,800 หน่วย เพิ่มขึ้เน 2% คอนโดฯครองแชมป์ 36% ตามติดด้วยทาวน์เฮาส์ 34% มูลค่าโอนกว่า 2 แสนล. คอนโดฯและบ้านเดี่ยวห่างไม่มาก อยู่ที่ 33% และ31% เผยขนาดพื้นที่โอนห้องชุดในกทม. 27.3%
กำลังโหลดความคิดเห็น