xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ชี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยง-แบงก์เผชิญภาระ NPL เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ประเมินกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย และธนาคารพาณิชย์ยังคงมีสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งกว่าช่วงก่อนวิกฤตการณ์ในปี 2540 แต่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่กลุ่มแบงก์ต้องเผชิญความเสี่ยงด้านหนี้สูญเพิ่มขึ้น แต่เงินสำรองยังแกร่งฯ

นายแอนดรูว์ คูลฮูน หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของฟิทช์ เรทติ้งส์กล่าวในงานสัมมนาประจำปีของบริษัทฯ ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจโลก ฐานะทางการเงินของประเทศไทย และภาระหนี้สินต่างประเทศโดยรวม ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งกว่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชียปี 2540

แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในด้านอื่นได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ปริมาณการค้าระหว่างประเทศของโลกฟื้นตัวขึ้นในระดับที่ช้ากว่ามาก เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตในอดีตในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังฟื้นตัว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของประเทศไทย และเศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่โดยรวมเติบโตในระดับที่ต่ำ นอกจากนี้ ระดับหนี้สินของภาคเอกชนที่สูงในหลายประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย เป็นปัจจัยที่ถ่วงการเติบโตของอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งบรรยากาศการลงทุนในตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้ปรับตัวแย่ลง เนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ “BBB+” และ “A-” ตามลำดับ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 โดยสะท้อนถึงการที่ประเทศไทยยังคงมีความแข็งแกร่งในด้านภาระหนี้สินต่างประเทศ รวมถึงนโยบายการคลังและนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงทรงตัวอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ก็มองว่า ความเสี่ยงในด้านอื่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากระดับหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ภาวะการลงทุนที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนทางการเมือง

แบงก์เผชิญความเสี่ยงหนี้สูญเพิ่มขึ้น

นายแอมบรีช ศรีวาสตา หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงินในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของฟิทช์ กล่าวว่า ความเสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากการปรับตัวลดลงอย่างมากของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ค่าเงินที่ปรับตัวอ่อนลง ผลกระทบที่ต่อเนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินภาคครัวเรือน และความเสี่ยงของผลกระทบจากความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนที่สะสมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ได้มีการเสริมสร้างความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับปรกติได้ ซึ่งสะท้อนได้จากแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของธนาคาร

สำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยก็เช่นกัน แม้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่สมเหตุสมผลในด้านของระดับเงินสำรองหนี้สูญและเงินกองทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของธนาคาร แม้ว่าภาพรวมของภาวะอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเป็นลบ
กำลังโหลดความคิดเห็น