xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. แนะรัฐใช้เงินออมในประเทศลงทุนเพิ่ม แต่ให้ระวังปัญหาหนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ประสาร” ชี้ประเทศไทยต้องการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน แนะใช้แหล่งเงินออมภายในประเทศแทนการกู้เงินต่างประเทศ แต่ให้ระวังปัญหาหนี้ครัวเรือน เชื่อมือทีมเศรษฐกิจช่วยลดทุกข์คนในระยะสั้น และพยายามดูแลไม่เป็นภาระคลังเกินไป

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ต้องการที่จะเห็นการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยขณะนี้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินมีเพียงพอ แม้สภาพคล่องน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าไทยมาก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินทุนไหลออกจากพันธบัตร และหุ้นประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถประเทศระยะต่อไปได้

ขณะเดียวกัน มองว่าควรใช้แหล่งเงินออมภายในประเทศดีกว่ากู้ยืมต่างประเทศ ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

“สิ่งที่น่าห่วงถ้าประเทศไทยขาดการลงทุนให้สูงกว่าระดับปัจจุบันไม่ได้ก็จะกลายเป็นทำลายความเข้มแข็ง และการออมในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลายเป็นว่าภาคเอกชนนิ่งไม่ลงทุน ไม่ใช้จ่าย ต่างกับช่วง 16 ปีก่อน บางประเทศ รวมถึงไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน สาเหตุใหญ่มาจากการใช้ทรัพยากรเงินทุนสูญเปล่า ท้ายที่สุดคนสมัยนั้นมีหนี้เยอะ ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนี้เข้ากระตุ้น และพยายามทำให้ไม่เป็นภาระคลังมากเกินไป เพื่อลดทุกข์ของคนในระยะสั้น ซึ่งจำเป็นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ก่อให้เกิดผลผลิตต่อไปไม่ให้ทรัพยากรสูญเปล่า ถือเป็นการบริหารเศรษฐกิจ และการเงินดีเยี่ยม” นายประสาร กล่าว

การที่รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยการอัดฉีดเงินลงสู่ระดับฐานราก เพื่อให้เกิดการผลิต ยังต้องระวังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนกลับมาเร่งตัวขึ้น หากมาตรการอัดฉีดเงินไม่มีการคัดกรองคนที่กู้เงินที่ดีพอ รวมถึงไม่ทำให้เกิดผลผลิต หรือมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จะเกิดผลเสียหาย และหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามมาได้

“ปัจจุบันภาครัฐ และเอกชนไม่ได้มีหนี้มากเกินไป แต่ในส่วนของภาคครัวเรือนอาจจะต้องติดตาม แม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีอัตราการเพิ่มชะลอลง ส่วนหนึ่งจากการจ่ายคืน และผลรายได้ลดลง” นายประสาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าไทยยังมีหลายโจทย์ให้ต้องแก้ไขทั้งการชะลอเศรษฐกิจ รายได้ประชาชนบางกลุ่มลดลง จึงหวังว่าการอัดฉีดเงินจะต้องมีกลไกกลั่นกรองที่มีประสิทธิภาพใช้เงินดังกล่าวสร้างผลผลิต และรายได้กลับคืนมา
กำลังโหลดความคิดเห็น